เป็นบทความที่ อ.เสกสรรค์ แย้มพินิจ จากภาควิชาครุศาสตร์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นผู้เขียน

ปัญหาการศึกษาไทย
ทัศนะ Constructionismกับการเรียนการสอน

ทัศนะConstructionism | รู้จักกับ Constructionism | แนวคิดพื้นฐานและหลักการ | เครื่องมือ
| แนวทางการดำเนินกิจกรรมการสอน (ตอน 1) | แนวทางการดำเนินกิจกรรมการสอน (ตอน 2) | ครูและผู้เรียน |
ผลที่ได้รับ ตามทฤษฎี Constructionism

บทนำ


ด้วยความกรุณาจากมูลนิธิศึกษาพัฒน์ ที่ให้โอกาสกับผมเข้าร่วมในการอบรมทฤษฎีConstructionism ที่มูลนิธิจัดขึ้น จุดเริ่มต้นนี้เองทำให้ผมได้รู้จักกับทฤษฎี Constructionism โดยตลอดระยะเวลาที่ได้เข้าร่วมอบรม ผมได้เรียนรู้และทำความเข้าใจทฤษฎีนี้จากการเข้าร่วมกิจกรรมด้วยตนเองและรับฟังจากผู้รู้หลายท่าน(บุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่ให้ความรู้กับผมคือ อ.บุปผชาติ ทัฬหิกรณ์ ซึ่งท่านได้กรุณาอธิบายให้พวกเราผู้เข้าร่วมอบรมฟัง จนหลายๆคนเริ่มเข้าใจและปฏิบัติตามแนวทางของ Constructionis ได้) ซึ่งเมื่อได้สัมผัสมากๆเข้าก็เริ่มมองเห็นประโยชน์นานับประการ โดยมองว่าทฤษฎีนี้เป็นทฤษฎีที่พัฒนาคนในทุกๆด้านไม่เฉพาะสติปัญญาเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมให้รู้จักตนเองและสังคมเพื่อจะได้ปรับตนเองให้เข้ากับสังคมได้อย่างมีความสุข ฝึกให้คิดเป็น , ทำเป็น , แก้ปัญหาเป็น ทฤษฎีนี้เหมาะกับคนไทยเพราะมีความยืดหยุ่นสูง ,ไม่ตีกรอบมากเกินไป , เป็นทฤษฎีที่ตอบสนองความต้องการรายบุคคลของผู้เรียนได้ดี


ทฤษฎี Constructionismนั้น ถ้าจะศึกษาให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งควรจะลงมือปฎิบัติโดยเข้าไปสัมผัสด้วยตนเอง(คล้ายกับการปฎิบัติธรรมะ) ซึ่งผมเองสังเกตว่าผู้เข้าร่วมอบรมส่วนใหญ่(ในช่วงแรกๆ)จะต้องใช้เวลาในการปรับความคิดพอสมควร และเมื่อปฎิบัติจนเริ่มมองเห็นประโยชน์ของทฤษฎี Constructionism แล้ว หลายๆท่านอยากจะนำทฤษฎีนี้ไปใช้กับการเรียนการสอนของตนเองแต่ยังไม่รู้ว่าจะนำไปประยุกต์ใช้อย่างไร ด้วยเหตุนี้ผมจึงเขียนเอกสารนี้ออกมาโดยแยกแยะทฤษฎี Constructionism ออกเป็นหัวข้อย่อยๆ เพื่อเป็นแนวทางที่ง่ายขึ้นสำหรับการทำความเข้าใจ การนำเสนอเนื้อหาจะแบ่งเป็นสองช่วง ในช่วงแรกจะเป็นการเสนอปัญหาการเรียนการสอนที่เราพบบ่อยๆ และปัญหานั้นนำไปสู่ปัญหาผลผลิตทางการศึกษาของเราที่ขาดคุณภาพ ส่วนในช่วงที่สองจะเป็นการเสนอทฤษฎี Constructionism เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปใช้ในเรียนการสอน


อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีในผู้ที่ศึกษาทฤษฎีนี้ว่าการเรียนรู้ของเราแต่ละคนมีความแตกต่างกัน และเนื่องจากเอกสารนี้เขียนจากประสบการณ์การเรียนรู้ของตัวผู้เขียนเอง ดังนั้นผู้เขียนจึงไม่ได้หวังให้เอกสารนี้เป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้อ่านทุกท่าน แต่เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นซึ่งมาจากการทัศนะ(ได้เห็น)ของผู้เขียนเองเท่านั้น

 

ตอนที่ 1 ปัญหาการเรียนการสอนของไทย

 

เมื่อปลายเดือนพฤษจิกายน(2541) ผมได้ดูรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งเป็นการแสดงของเด็กที่มีชื่อกลุ่มว่าสมัชชาเด็ก เด็กเหล่านี้ได้แสดงละคร แสดงหุ่นกระบอก หนังตะลุง และแสดงสิ่งต่างๆ เพื่อถ่ายทอดความคิดเห็นและความรู้สึกของพวกเขาเกี่ยวกับปัญหาการเรียนการสอนที่พวกเขาได้พบ เมื่อดูแล้วมีความรู้สึกว่าเด็กๆสะท้อนภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเรียนการสอนได้อย่างดี ปัญหาการเรียนการสอนที่ทำให้เด็กไม่มีความสุขในการเรียนถูกถ่ายทอดออกมาหลายเรื่อง เช่น สภาพการเรียนการสอนที่น่าเบื่อหน่าย คุณครูใจร้ายที่ไม่เข้าใจเด็กเฆี่ยนตีและดุเด็ก คุณครูที่ไม่ค่อยมาสอน คุณครูที่สั่งการบ้านมากเกินไปจนเด็กต้องทำงานดึก หรือคุณครูขี้เมาที่มีกลิ่นสุราติดตัวเข้ามาสอน ในทางกลับกันเด็กๆอยากให้คุณครูรักและเข้าใจพวกเขามากขึ้นไม่ดุพวกเขาและไม่ทำโทษพวกเขา(Jจากสาเหตุที่เขายังเด็กเขายังไม่รู้) อยากให้คุณครูใจดีกับพวกเขา มีเทคนิคการสอนที่สนุกและอยากมีสภาพห้องเรียนที่พวกเขาเรียกว่าห้องเรียนในฝันเป็นห้องเรียนที่มีแต่ความสุขJในการเรียนรู้

การเสนอปัญหาต่างๆเหล่านี้จากมุมมองของเด็ก ทำให้คนที่ดูหลายๆคนมีความเห็นพ้องกับเด็กๆเนื่องจากสมัยที่ตนเองเรียนก็เคยสัมผัสกับบรรยากาศเหล่านี้มาแล้ว จากสิ่งที่เด็กๆเสนอมาครูอาจารย์บางท่านอาจมีความรู้สึกคาดไม่ถึงว่าเด็กๆจะสังเกตการสอนของครูโดยมองเห็นปัญหาและสะท้อนปัญหาเหล่านี้ออกมาได้ สิ่งที่เด็กๆเสนอออกมาทำให้ครูหลายๆคนเข้าใจความรู้สึกของเด็กๆมากขึ้น มีความรู้สึกว่าในการเรียนการสอนที่ผ่านมาคุณครูมักจะละเลยความรู้สึกของเด็กๆเหล่านี้ และจากการได้เห็นสิ่งที่เด็กๆเสนอออกมาทำให้ครูบางท่านเริ่มปรับเปลี่ยนการสอนรวมทั้งหาวิธีการสอนที่เหมาะสมมาใช้กับวิชาที่ตนเองสอน เพื่อพยายามให้เกิดห้องเรียนในฝันอย่างที่เด็กๆต้องการ

พวกเราหลายคนอาจจะเคยสัมผัสกับปัญหาที่เด็กๆนำเสนอมาบ้าง ทั้งในบทบาทของครูเอง หรือบทบาทซึ่งครั้งหนึ่งตนเองก็เคยเป็นนักเรียน สิ่งที่พบบ่อยในสมัยที่เราเป็นผู้เรียน คือ ความเบื่อหน่ายต่อการเรียน , ง่วงและหลับในห้องเรียน , ลองนึกดูว่าในสมัยที่เราเป็นนักเรียนก็คงมีบางวิชาที่เราไม่ชอบและเปรียบวิชานั้นเสมือน "ยาขม" สำหรับเรา เมื่อเราไม่ชอบเราก็ไม่อยากเข้าเรียน ถ้าเข้าไปเรียนก็รู้สึกเบื่อเพราะเรียนไม่รู้เรื่อง , ไม่มีความสุขกับการเรียนวิชานั้น หรือถ้าเลือกได้เราก็คงไม่เรียนวิชาที่เปรียบเสมือน"ยาขมL" สำหรับเรา แต่ในทางกลับกันมีบางวิชาที่เรารู้สึกว่าเราชอบ "J"เราอยากเรียน เรามีความสุขกับการเรียนวิชานั้นมาก เมื่อถึงวันที่มีวิชานี้เราจะรู้สึกดีใจ (Jแต่ถ้าวันไหนมีวิชาที่เราชอบอยู่ร่วมกับวิชาที่เป็นยาขมเราก็จะดีใจเพียงครึ่งเดียว) จากประสบการณ์ตอนเป็นผู้เรียน เราเคยสังเกตหรือไม่ว่าทำไมเราชอบวิชานี้หรือไม่ชอบวิชานี้ รวมทั้งบางวิชาที่เราชอบแต่เพื่อนๆกลับไม่ชอบ หรือบางวิชาที่เราไม่ชอบเพื่อนๆกลับชอบเรียน เป็นเพราะอะไร? คำตอบหนึ่งที่สามารถอธิบายได้ คือ คนเราแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ในด้านต่างๆเช่น ความสนใจ ความสามารถ ความพร้อมและความต้องการ และสิ่งที่สำคัญคือคนเราแต่ละคนเรียนรู้ไม่เหมือนกันบางคนเรียนรู้ได้รวดเร็วในเรื่องหนึ่งแต่เรียนรู้ได้ช้าในอีกเรื่องหนึ่ง

นอกจากนั้นในเรื่องของความสนใจและความต้องการของผู้เรียนนั้นมีความสำคัญมากกับการเรียนรู้ของแต่ละคน โดยอาจจะมองย้อนกลับไปในอดีตของเรา เราเองจะพบว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่เราเรียนรู้ได้เองโดยไม่ต้องมีคนสอนหรือต้องมานั่งเรียนในห้องเรียน นั่นคือเราเรียนรู้ได้เองจากความสนใจส่วนตัวหรือเรียนรู้ได้จากความต้องการของเราเพราะเรารักและสนใจที่จะเรียนรู้สิ่งนั้นโดยไม่ต้องมีใครมาบอกหรือมาสั่งให้เรียน ถึงแม้ว่าบางครั้งจะมีปัญหาเกิดขึ้นเราก็จะแสวงหาวิธีการแก้ปัญหานั้นด้วยตัวเราเองจากแหล่งความรู้ต่างๆ จะเห็นว่าถ้าครูจัดบรรยากาศการเรียนการสอนที่ตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลและทำให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญและเกิดความสนใจในเนื้อหาที่สอนจะทำให้ผู้เรียนมีความชอบ(J) และสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง , แสวงหาความรู้ด้วยตนเองนอกเหนือจากการสอนในห้องเรียน

ในความเป็นจริงบรรยากาศการเรียนการสอนที่เราเคยสัมผัสหรือเคยเรียนนั้นไม่ได้จัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับ หลักความแตกต่างระหว่างบุคคลมากนัก อาจจะเป็นเพราะว่ามีจำนวนนักเรียนมากขึ้น (หนึ่งห้องมีนักเรียนประมาณ 30 - 50 คน แถมในบางวิชามีการรวมห้อง จำนวนนักศึกษาก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 70 - 100 คน)โอกาสที่ครูเองจะเข้าไปสัมผัสกับผู้เรียนเพื่อตอบสนองความต้องการรายบุคคลมีน้อยลง อีกทั้งการเรียนการสอนโดยมีครูเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เป็นวิธีที่ง่ายต่อการสอนจึงเป็นเทคนิคที่นิยมนำมาใช้สอน ถ้าเรามองการสอนที่เราเคยพบสมัยที่เราเป็นผู้เรียน เทคนิคการสอนที่เราพบมากที่สุดคือการสอนแบบบรรยายโดยมีครูเป็นศูนย์กลาง กล่าวคือ ครูจะยืนอยู่หน้าชั้นเรียนสอนเนื้อหาสิ่งเดียวกันในเวลาเดียวกันต่อนักเรียนจำนวนมาก และครูส่วนใหญ่ก็จะตั้งความหวังไว้ว่านักเรียนทุกคนจะต้องเรียนได้เท่าๆกัน ซึ่งขัดกับหลักจิตวิทยาว่าด้วยความแตกต่างระหว่างบุคคล ที่คนแต่ละคนมีความสนใจ ความสามารถ ความถนัด และมีวิธีเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าผู้เรียนแต่ละคนจะรับความรู้ที่ถ่ายทอดได้ไม่เท่ากัน การสอนโดยยึดครูเป็นศูนย์กลางเพียงอย่างเดียวจะไม่ตอบสนองความแตกต่างรายบุคคลได้ครบทั้งหมด จึงทำให้ผู้เรียนบางส่วนเกิดความเบื่อหน่าย ไม่อยากเรียน และเกิดพฤติกรรมต่างๆที่ครูคิดว่าเป็นปัญหา

สภาพการศึกษาของไทยและปัญหาผลิตผลทางการศึกษา

ถ้าเรามองการเรียนการสอนจากอดีตก่อนที่จะมีระบบโรงเรียน สมัยก่อนนั้นพ่อแม่จะเป็น "ครู" ผู้สั่งสอนลูก โดยมุ่งสอนให้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง พ่อแม่มีอาชีพอย่างไรก็มักสั่งสอนอาชีพนั้นแก่ลูกของตนเอง เช่น พ่อแม่มีอาชีพเกษตรกรก็สอนอาชีพนั้นแก่ลูกๆ เพื่อที่ลูกๆจะได้มีทักษะอาชีพติดตัวไปทำมาหากินในอนาคต ในการสอนอาชีพก็คอยแนะนำทักษะต่างๆให้กับลูกโดยใกล้ชิด ส่วนลูกก็ได้ลงมือปฏิบัติงานจริง ภายใต้สภาพแวดล้อมจริงที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และเมื่อมีปัญหาก็จะให้คำแนะนำกับลูกเป็นรายบุคคล หรือนำลูกไปฝากไว้ที่วัดหรือสำนักต่างๆ ซึ่งนอกจากจะได้เรียนสรรพวิชาต่างๆแล้วก็ยังมีการปลูกฝังคุณธรรมไปในตัวด้วย

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยเริ่มมีระบบโรงเรียน โดยทรงจัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเพื่อเตรียมคนเป็นข้าราชการ ตั้งแต่นั้นมาชาวไทยก็ถือว่าการศึกษาเป็นวิถีทางหนึ่งที่จะยกฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเองหรือบุตรธิดาให้สูงขึ้น ชาวไทยมีทัศนคติที่ดีต่อการศึกษามาก พ่อแม่พยายามที่จะส่งลูกๆให้เข้าในระบบโรงเรียนและส่งเสียให้ได้เรียนสูงๆ เมื่อเริ่มมีระบบโรงเรียนนักการศึกษาในสมัยนั้นก็รับแนวคิดการจัดหลักสูตรตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลต่อการศึกษาของไทย การสอนได้เปลี่ยนจากการสอนแบบเดิมที่มุ่งสอนให้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง จากเดิมมีครูสอนลูกศิษย์เพียง 2 - 3 คน เปลี่ยนมาเป็นการสอนที่มีครูยืนอยู่หน้าชั้นเรียนให้นักเรียน 30 - 50 คนนั่งฟังภายในห้องเรียนสี่เหลี่ยมและคอยจดตามคำสอน กลายเป็นภาพที่ติดแน่นมาจนถึงปัจจุบันอย่างยากที่จะลบเลือน

จากการที่บรรยากาศการเรียนการสอนโดยยึดครูเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้มานานนับร้อยปี ส่งผลให้เกิดปัญหาทางการเรียนการสอนขึ้น กล่าวคือ ผลผลิตทางการศึกษาของเราขาดคุณลักษณะที่สำคัญ 6 ประการ คือ 1) กล้าและรู้จักแสดงความคิดเห็นต่อชุมชน 2) สามารถตัดสินใจด้วยตนเอง 3) รู้จักทำงานร่วมกันเป็นหมู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 4) รู้จักแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง 5) มีความคิดในการพัฒนาและความคิดสร้างสรรค์ 6) มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ปัญหาต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? และเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนอย่างไร ? ขออธิบายรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้

ในบรรยากาศการเรียนการสอนที่เน้นให้ครูเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ด้วยความเชื่อที่มีมาแต่โบราณว่าครูจะต้องมีความรู้ดีกว่านักเรียน การเรียนการสอนส่วนใหญ่จึงเป็นลักษณะครูถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียน ส่วนผู้เรียนเป็นฝ่ายรับความรู้จากครู ในขณะที่ครูส่วนใหญ่มีความคิดที่ว่าจะต้องถ่ายทอดเนื้อหาให้กับผู้เรียนให้มากที่สุดเพราะเนื้อหาที่สอนนั้นมีประโยชน์กับตัวผู้เรียน ดังนั้นบรรยากาศการเรียนการสอนที่เราพบส่วนใหญ่ ครูจึงเป็นผู้มีบทบาทอยู่ตลอดเวลา(เป็นพระเอกหรือนางเอก) นักเรียนไม่มีโอกาสได้พูดและแสดงความคิดเห็นเท่าใดนัก(เป็นตัวประกอบ) ผลจึงปรากฏว่า เมื่อนักเรียนเติบใหญ่ขึ้น จึงไม่กล้าแสดงความคิดเห็นต่อชุมชน บางคนกล้าแต่ไม่รู้จักแสดงความคิดเห็น ซึ่งการแสดงความคิดเห็นนั้นเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ต้องมีการฝึกฝน และควรจะมีการปลูกฝังตั้งแต่เยาว์วัย ไม่ใช่เติบใหญ่ขึ้นมาแล้วจะกล้าแสดงความคิดเห็นโดยอัตโนมัติ นอกจากนั้นการเรียนการสอนแบบครูเป็นศูนย์กลางที่ถ่ายทอดเนื้อหาให้นักเรียนแต่เพียงฝ่ายเดียว ยังทำให้นักเรียนขาดโอกาสในการตัดสินใจด้วยตนเอง เพราะผู้เรียนมีโอกาสได้ปฏิบัติกิจกรรมที่ต้องตัดสินใจด้วยตัวเองน้อยมาก เรื่องนี้ครูหลายท่านอาจจะมีประสบการณ์คล้ายๆกัน คือ พบว่านักศึกษาที่เรียนถึงระดับอุดมศึกษา แต่ตัดสินใจแก้ไขปัญหาด้วยตนเองไม่ได้

บรรยากาศการเรียนการสอนในห้องเรียนที่ครูต้องสอนเนื้อหาให้ทันตามหลักสูตรซึ่งเต็มไปด้วยเนื้อหามากมาย เนื้อหาบางส่วนเปรียบเสมือน"ขยะ" คือ เนื้อหาที่ไม่มีความจำเป็นต่อหรือสัมพันธ์ต่อชีวิตของนักเรียน แต่ด้วยหน้าที่ ทำให้ครูหลายๆท่านต้องพยายามสอนเนื้อหาให้ทัน เปรียบเสมือนการ"กรอก"ความรู้ให้กับนักเรียนโดยไม่ตั้งใจ จากปัญหานี้ ทำให้ครูต้องรีบเร่งจนไม่มีเวลาที่จะเปิดโอกาสให้นักเรียนทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม(กิจกรรมในห้องเรียน) เมื่อไม่มีการทำงานเป็นกลุ่มทำให้ขาดโอกาสในการรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น และยังขาดความเคารพตนเองและคนอื่น ผลจึงปรากฏว่า คนไทยส่วนใหญ่ทำงานร่วมกันไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ขอยกตัวอย่างเช่น การแก้ปัญหาการจราจรของกรุงเทพฯ มีหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องมากมาย ซึ่งหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องน่าจะมีการประสานงานกัน แต่ปรากฏว่าหน่วยงานต่างๆกลับแยกกันทำอย่างอิสระ ดังจะเห็นได้จากงานบางอย่างเกิดความซ้ำซ้อนในขณะที่งานบางอย่างไม่มีผู้ดูแล ครั้นเมื่อถึงเวลาที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขงานของหน่วยงานหนึ่งและงานนั้นจะต้องสัมพันธ์กับหน่วยงานอื่นด้วยกลับไม่มีการประสานงานกันเท่าที่ควร

การสอนความรู้ที่ครูเป็นผู้ให้ด้วยความหวังดี แต่ผู้เรียนไม่เห็นความสำคัญของสิ่งที่ครูให้แต่จำเป็นต้องรับความรู้นั้น ลักษณะนี้เปรียบเสมือนการกรอกความรู้ให้ผู้เรียน การสอนแบบนี้ผู้เรียนจะนั่งฟังครูหรือฟังและจดตามครูอย่างเดียว เมื่อผู้เรียนไม่เห็นความสำคัญรู้แต่ว่าจะต้องเรียน เป็นอย่างนี้นานเข้าๆจึงเคยชินกับการรอรับความรู้จากครู (มองว่าครูคือผู้สอนหรือผู้นำความรู้มาให้ส่วนตัวผู้เรียนเองคือผู้รอรับการสอน) เมื่อผู้เรียนคิดเช่นนั้นจึงขาดการฝึกแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง สังเกตได้จากครูสอนแค่ไหนผู้เรียนก็รู้แค่นั้นความรู้ไม่มีการต่อยอดเพราะสิ้นสุดแค่ในชั้นเรียน ผลจึงปรากฏว่ามีผู้เรียนหลายคนจบการศึกษาออกไปทำงานและได้เผชิญกับปัญหาจริง(โดยเฉพาะปัญหาที่จะต้องมีการแสวงหาแนวทางแก้ไข)แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะปรับตัวไม่ทัน เคยแต่เป็นผู้รับอย่างเดียวไม่เคยแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ทำให้มองไม่เห็นปัญหาหรือถ้าเห็นปัญหาก็ละเลยต่อปัญหานั้น เพราะไม่เคยฝึกคิดหาทางแก้ปัญหามาก่อน นอกจากนั้นการเรียนการสอนที่เน้นทฤษฎีมากๆโดยไม่เน้นการปฏิบัติ(เน้นแต่ทฤษฎีที่ครูเป็นผู้ให้อย่างเดียว)ทำให้นักเรียนขาดโอกาสในการปฏิบัติงานขาดการลงมือทำด้วยตนเอง เมื่อผู้เรียนไม่ได้สัมผัสบรรยากาศในการเรียนรู้ด้วยตนเองทำให้ขาดการเผชิญปัญหา(ไม่รู้ว่าอะไรคือปัญหา) ส่งผลทำให้ขาดการพิจารณาสาเหตุแห่งปัญหา(ไม่รู้ว่าสิ่งใดคือสาเหตุของปัญหานั้น) ขาดการคิดหาแนวทางการแก้ปัญหา และขาดการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหานั้น เมื่อจบออกไปจึงไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานและปัญหาชีวิตได้เท่าใดนัก

นอกจากนี้จะเห็นว่าผลผลิตทางการศึกษาของเราส่วนใหญ่ขาดความคิดในการพัฒนาและขาดความคิดสร้างสรรค์ เพราะการเรียนการสอนที่ครูเป็นผู้ป้อนความรู้อย่างเดียวแถมยังตีกรอบให้ปฏิบัติตาม ทำให้ผู้เรียนขาดโอกาสในการคิดแสวงหาแนวทางอื่นๆนอกเหนือจากที่ครูป้อนให้ เช่น ครูสั่งให้ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมอะไรสักอย่างหนึ่งก็มักจะมีตัวอย่างหรือมีกรอบเพื่อให้ปฏิบัติตาม(การปฏิบัติงานดังกล่าวขอยกเว้นงานที่เสี่ยงต่ออันตรายหรือการเสียหายทางทรัพย์สินหรือกรณีอื่นๆตามที่ท่านเห็นควร) ถ้านักเรียนทำนอกเหนือจากที่ครูบอกถือว่าผิด เช่น การเรียนวิชาศิลปะในสมัยเด็ก ครูก็มักจะวาดรูปให้นักเรียนดูบนกระดานสมมุติว่าครูวาดรูปนก งานที่ครูสั่งให้ทำก็คือวาดรูปนกตามที่ครูสอน ผู้เรียนส่วนใหญ่ก็จะวาดรูปนกตามครู ถ้าสมมุติว่าเด็กชายปรีชานำหลักที่ครูสอนเรื่องการวาดรูปนกมาวาดเป็นรูปกระต่าย เมื่อนำมาส่งก็อาจโดนครูตำหนิได้ การสอนลักษณะดังกล่าวทำให้ผู้เรียนขาดโอกาส"คิด"ในการออกแบบหรือพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เพราะยึดติดกับกรอบที่ครูวางไว้จนเคยชิน มีผลทำให้ผู้เรียนไม่สามารถประยุกต์ความรู้ที่เรียนมากับการแก้ปัญหาในการทำงานหรือปัญหาชีวิตได้เพราะถูกตีกรอบทางความคิดจนเคยชิน ยิ่งไปกว่านั้นผลจากการถูกตีกรอบทางความคิดจนเคยชิน ส่งผลทำให้ความคิดต่างๆของผู้เรียนถูกตีกรอบโดยไม่รู้ตัว เมื่อคิดจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งเขาก็มักจะตีกรอบทางความคิดขึ้นมาด้วยความเคยชินว่าห้ามทำอย่างโน้น ไม่ควรทำอย่างนี้ ทำให้ขาดความคิดสิ่งใหม่ๆขาดการมองด้วยมุมมองที่หลากหลาย หรือเรียกว่าขาดความคิดสร้างสรรค์นั่นเอง

ในด้านหน้าที่ของพลเมือง การเป็นสมาชิกที่ดีนั้นควรจะมีความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อสังคมด้วย การเรียนการสอนหน้าที่ของพลเมืองส่วนใหญ่มักจะสอนเนื้อหาเกี่ยวกับการเป็นพลเมืองที่ดี แต่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึก เป็นผลให้ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่มักดูดายต่อปัญหา ขาดความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ปัญหานี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการสอนในชั้นเรียนที่มักจะมีบรรยากาศการเรียนการสอนที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ร่วมกัน ส่วนใหญ่จะมีบรรยากาศการเรียนการสอนที่เป็นวิชาการสูงเน้นทฤษฎีมากผู้เรียนต้องนั่งเรียนอย่างมีระเบียบ ทำให้มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันน้อยมาก ในทางกลับกันมีการแข่งขันกันเรียนมากขึ้น ส่งผลทำให้ผู้เรียนขาดความเอื้ออาทรต่อเพื่อน ขาดบรรยากาศที่เป็นกันเอง ทำให้เป็นแหล่งบ่มเพาะบุคลากรที่มี "ความใจแคบ" ออกมาสู่สังคม ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและยากที่จะแก้ไขได้

จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการเสนอเพื่อให้เห็นปัญหาที่เกิดจากการเรียนการสอนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งปัญหาบางส่วนนั้นเกิดจากระบบการศึกษา ความเชื่อและค่านิยมทางการศึกษาของคนไทยที่มีมาแต่อดีต รวมทั้งบางส่วนมาจากวิธีการสอนที่ถ่ายทอดกันมาเป็นรุ่นๆ โดยครูมีบทบาทที่เป็นผู้ให้มากเกินไป(ด้วยความหวังดีหรือความเคยชิน) จนผู้เรียนขาดโอกาสในการเรียนรู้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามผมมิได้มีเจตนาที่จะชี้ให้เห็นว่าการสอนที่มีครูเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้นั้นไม่ดี หรือควรจะยกเลิกการสอนแบบเดิมทั้งหมด จริงๆแล้วการสอนแบบครูเป็นศูนย์กลางมีประโยชน์ และเหมาะสมกับการสอนเนื้อหาหลายๆอย่าง แต่ผมมองว่าการเรียนการสอนควรจะมีทางเลือกอื่นๆที่น่าสนใจและก่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีเช่นเดียวกันหรืออาจจะดีกว่า มีการใช้เทคนิคการสอนที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นหลัก ซึ่งจะมีทั้งทักษะการสอนแบบครูเป็นศูนย์กลางและผู้เรียนเป็นศูนย์กลางผสมผสานกันไป โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมมากขึ้น ให้เขาได้ใช้ความสามารถของเขาตามทางที่เขาถนัด

จากปัญหาและสาเหตุเหล่านี้ เราอาจจะตั้งคำถามถามตัวเองว่าควรให้โอกาสเหล่านี้กับนักเรียนของเราหรือไม่ และถึงเวลาหรือยังที่เราจะหาวิธีการสอนวิธีอื่นๆเข้ามาเสริมการเรียนการสอน เพื่อตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลมากขึ้น ทำให้ผู้เรียนเรียนอย่างมีชีวิตชีวาและมีความสุขในการเรียน มีบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี ผู้เรียนได้ฝึกคิด ฝึก

ปฏิบัติ ฝึกเผชิญปัญหาและหาทางแก้ไขด้วยตนเองมากขึ้น เมื่อสำเร็จการศึกษาออกมาก็

จะเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายจิตใจและสติปัญญา นอกจากนั้นยังฝึกให้เขาพร้อมที่จะไปอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างใดก็ตาม เขาจะรู้จักแก้ปัญหาได้ด้วยตัวของเขาเอง

ทฤษฎี Constructionism เป็นทฤษฎีหนึ่งที่ผมขอเสนอให้เป็นทางเลือกอีกทาง (อาจจะนำมาใช้ประยุกต์กับการเรียนการสอนของท่านหรือไม่ก็ได้ เพราะเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้น) ในการนำมาใช้พัฒนาการเรียนการสอน