การปลูกขยายพันธุ์มะม่วงหิมพานต์และการแปรรูป

 

พนม  เกิดแสง

eatpnk@ku.ac.th

 

                ตำบลหาดล้า  เดิมเป็นตำบลที่ตั้งอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำน่าน   อยู่ทางทิศเหนือของที่ว่าการอำเภอท่าปลา  (เดิม) เมื่อปี  พ..2512  ทางราชการได้ทำการก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์  กั้นแม่น้ำน่านทำให้น้ำเอ่อล้นท่วมครอบคลุมพื้นที่ของตำบลหาดล้า     ราษฎรได้พากันอพยพหนีน้ำมาสู่ที่อยู่ใหม่ โดยทางนิคมลำน้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์  เป็นผู้จัดสรรพื้นที่ทำกิน โดยจับฉลากครอบครัวละ 15 ไร่     ปัจจุบันตำบลหาดล้า จึงประกอบไปด้วย ประชาชนหลากหลายหมู่บ้าน หลายตำบลของอำเภอท่าปลาที่โยกย้ายมาอยู่รวมกันเป็นผัง ๆ รวมกันเป็นตำบลหาดล้า

ปัจจุบันตำบลหาดล้า  เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอท่าปลา มีเนื้อที่ทั้งหมด  56.964  ตารางกิโลเมตร จำนวนราษฎร  5,317   คน 1,168  ครัวเรือน แบ่งการปกครองตามลักษณะพื้นที่ออกเป็น  หมู่บ้าน ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล จากกระทรวงมหาดไทย  เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.. 2539  

                                ตำบลหาดล้า มีสภาพภูมิประเทศ  ส่วนใหญ่เป็นภูเขา และบางส่วนเป็นที่ราบเชิงเขามีเนินสลับ (คล้ายลูกระนาด) มีลำห้วย 9 สาย คือ ห้วยอีบุต, ห้วยรกช้าง,       

ห้วยสิงห์, ห้วยคลองชมภู, ห้วยผาเข็ม, ห้วยงุ้นใหญ่, ห้วยงุ้นน้อย, ห้วยชำ, ห้วยอ้อม ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในการเกษตร แต่จะแห้งขอดในช่วงฤดูแล้ง

ผมและทีมงานถ่ายทำวีดิทัศน์เดินทางมายังบ้านหาดไก่ต้อย ตำบลหาดล้า อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งได้มี ที่รวมตัวกันปลูกและแปรรูปเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งทางแถบภาคเหนือคุณภาพและปริมาณผลผลิตต่อปีไม่แพ้ทางภาคใต้และภาคตะวันออก และคาดว่าอีกไม่นานจะเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงในการปลูกและแปรรูปมะม่วงหิมพานต์ในระดับประเทศทีเดียว

    บ้านหาดไก่ต้อย อยู่ทางทิศใต้ของอำเภอท่าปลา ประมาณ 5 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ 20 นาที -ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ 4 บ้านโป่งแก้ว ตำบลหาดล้า -ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ 9 บ้านเนินสิงห์ ตำบลร่วมจิต -ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ 11 บ้านผาแก่น ตำบลท่าปลา -ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ 2 บ้านตีนดอย ตำบลหาดล้า ลักษณะภูมิประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่สูง มีคลองสิงห์ไหลผ่านใช้ประโยชน์ได้น้อยเพราะคลองสิงห์ไหลผ่านจะเป็นพื้นที่ทำการเกษตรของหมู่บ้านน้ำสิงห์ใต้ หมู่ 5 ตำบลท่าปลา แต่พื้นที่ทำกินการเกษตร บ้านหาดไก่ต้อยจะอยู่บนเนินเขาทั้งหมด โดยแบ่งเป็น - พื้นที่ราบน้ำท่วมถึง คิดเป็นร้อยละ 20 - ที่ราบเนินเขาน้ำท่วมไม่ถึง คิดเป็นร้อยละ 30 - ภูเขาสูง คิดเป็นร้อยละ 50

 

ชุมชนส่วนมากของบ้านหาดไก่ต้อย มีรายได้จากการแปรรูปมะม่วงหิมพานต์ดีมากเช่นรับจ้างขูดหรือลอกเยื่อเมล็ดมะม่วง บ้างก็รับจ้างแกะเปลือกบางส่วนก็ทำการแปรรูป และยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่รับงานไปทำที่บ้านทำให้ เกษตรกรส่วนใหญ่ในตำบลหาดล้า ปลูกมะม่วงหิมพานต์เป็นอาชีพหลักแปรรูปเองและจำหน่ายต้นพันธุ์อีกด้วย  พันธุ์ที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ศรีษะเกษ60-1และพันธุ์ศรีษะเกษ60-2 

 

 

 

นื่องจากมะม่วงหิมพานต์เป็นพืชที่ลงทุนต่ำ ทนแล้ง ปลูกง่าย เจริญเติบโตเร็ว ขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด ผลผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยมีการส่งออกต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 117 ล้านบาท  ในปี 2547 มีพื้นที่ปลูกทั่วประเทศประมาณ 180,000 ไร่  เป็นพื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว ประมาณ 150,000 ไร่  ผลผลิตประมาณ 40,000 ตัน  จังหวัดที่เป็นแหล่งปลูกที่สำคัญ คือ ระนอง ชลบุรี อุบลราชธานี พังงา ปัตตานี และระยอง  ผลผลิตสามารถเก็บไว้ได้นานไม่เน่าเสียง่ายเหมือนผลไม้ทั่วไป

ปัญหาของมะม่วงหิมพานต์ที่สำคัญ ได้แก่ การขาดแคลนพันธุ์ดี ไม่มีการปฏิบัติดูแลรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม  ทั้งในแง่การใส่ปุ๋ย การป้องกันกำจัดศัตรูพืช การตัดแต่งกิ่ง การเก็บเกี่ยว และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว   ต้นมะม่วง หิมพานต์มีอายุมาก และเสื่อมโทรม ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ เมล็ดเล็ก และไม่มีคุณภาพ  รวมทั้งสารอัลฟาท็อกซินในผลผลิต

 

 

                                  มะม่วงหิมพานต์นั้นเดิมทีเป็นไม้ผลพื้นเมืองของอเมริกาใต้ มีปลูกกันทั่วไปตั้งแต่เม็กซิโกจนถึงเปรู ต่อมาได้ ขยายพันธุ์ออกไปอย่างกว้างขวางในทวีปอาฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ตามหมู่เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทร แปซิฟิค ตลอดจนถึงทวีปเอเซีย ประเทศที่นับได้ว่าเป็นผู้ส่งออกผลิตผลจากมะม่วงหิมพานต์รายใหญ่ของโลก ได้แก่ อินเดีย โมแซมบิค แทนซาเนีย บราซิล เป็นต้น

 

 

 

 

มะม่วงหิมพานต์

วงศ์ :  

acardiaceae

พันธุ์ :  

Anacardium

กลุ่ม :  

Occidentale

ชื่อพื้นเมือง :  

Cashew, Cashew Apple, Cajueiro, Cashu, Acajoiba, Acaju, Cajou, Jocote, Maranon Pomme Cajou

ส่วนที่ใช้ :  

ผลปลอม

               

 

 

 

 

 

 

 

สำหรับประเทศไทย มะม่วงหิมพานต์ได้ปลูกกระจายไปทั่วประเทศ แต่ปลูกมากทางภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   และภาคตะวันออก โดยเฉพาะที่จังหวัดตราดและจังหวัดอุตรดิตถ์  ก็ได้มีการนำ มะม่วงหิมพานต์แก่เกษตรกร เพื่อปลูกขยายพันธุ์เช่นกัน

 

                มะม่วงหิมพานต์เป็นไม้ผลยืนต้น ตระกูลเดียวกับมะม่วงมีขึ้นอยู่ทั่วไปในประเทศที่มีอากาศร้อนและฝนตก ชุก   เป็นต้นไม้ที่ไม่ผลัดใบ สูงราว 6-12 เมตร แผ่กิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มกว้างออกไปโดยรอบ 4-10 เมตร กิ่งทอดยาว แผ่ออกข้าง ๆ กิ่งใหญ่ หรือส่วนโคนของกิ่งใหญ่ ๆ ถ้าปล่อยตามธรรมชาติจะไม่มีกิ่งแขนงเกิด แต่ถ้าได้รับ การตัดแต่งหรือบังคับ ก็จะมีกิ่งแขนงแตกออกตามทิศทางที่เราต้องการได้

 

  

 

ลักษณะของใบจะค่อนข้างหนาคล้ายรูปไข่ ปลายใบป้อม โคนใบแหลมยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร กว้างประมาณ 5-7.5 เซนติเมตร ออกช่อดอกที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว ประมาณ 15-25 เซนติเมตร บางดอกมีแต่เกสรตัวผู้ บางดอกมีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย อยู่ในช่อดอกเดียวกัน

    

 

 ดังนั้น การผสมพันธุ์จึงทำการผสมในช่อเดียวกัน ลักษณะดอกเป็นช่อ ในหนึ่งดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียว 5 กลีบ กลีบดอกสีขาวนวล 5 กลีบ เมื่อแรกบานกลีบดอกจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพูอมเหลือง แต่ละดอกมีขนาด เล็กมาก เมื่อเวลาดอกบาน กลีบดอกทั้ง 5 ม้วนเข้าหากลีบเลี้ยง คงโผล่ให้เห็นยอดเกสรตัวเมียชัดเจน เกสรตัวผู้ อยู่ภายในดอก 9 อัน และมีรังไข่อยู่ที่ก้านเกสรตัวเมีย

 

                        

               

ผลของมะม่วงหิมพานต์  ผลมีลักษณะแปลกประหลาด ส่วนที่เป็นผลคือก้านของดอกที่ขยายตัวพองขึ้นและส่วนที่เป็นผล จริง ๆ คือ เมล็ดที่รูปร่างเหมือนไตติดอยู่ตรงปลายสุด เมื่อยังอ่อนมีสีเขียว และขยายเติบโตจนใหญ่กว่าผลใน ระยะแรก (ที่เกิดจากการขยายตัวของ

 

                                       

 

ก้านดอกเมื่อได้ขนาดก็หยุดเจริญเปลี่ยนสีเป็นสีเทา และพร้อมกันนี้ดอกที่ เป็นผลปลอมก็เริ่มขยายเบ่งตัวพองโตขึ้นจนใหญ่กว่าเมล็ด เมล็ดขนาดยาวประมาณ 3 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร ถ้าผ่าเมล็ดออกเปลือกเมล็ดจะหนาราว 2-3 มิลลิเมตร เมล็ดในมีสีขาวนวลประกบกัน 2 ซีก เปลือกหุ้มเมล็ดมียางสีน้ำตาลอ่อน มีลักษณะเป็นกรด ถ้าถูกผิวหนังจะทำให้พองเป็นแผลเปื่อย

  

               

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านหาดไก่ต้อย ตำบลหาดล้า อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ เป็นกลุ่มที่รวมตัวกันปลูกและแปรรูปเมล็ดมะม่วงหิมพานต์เป็นส่วนใหญ่ และมีรายได้จากการแปรรูปที่ดีมาก

 

                        

 

มีรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน รับซื้อและคัดเลือกเมล็ดมะม่วง โดยมีคุณวันทา ผ่านคำ เป็นประธานกลุ่ม โดยมีสำนักงานเกษตรอำเภอท่าปลา และเขื่อนสิริกิตติ์ให้การสนับสนุนด้านวิชาการและงบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์และโรงเรือนเก็บผลผลิต

 

         

                                คุณวันทา ผ่านคำ

             ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านหาดไก่ต้อย เล่าให้ฟังว่าเดิมทีครอบครัวคุณพ่อนายสำรวย  ขำทองและคุณแม่ลำดวน  ขำทองได้ปลูกพืชและทำไร่หาปลาอยู่บริเวณใกล้เคียงที่เป็นเขื่อนสิริกิติ์ในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของที่ว่าการอำเภอท่าปลา  (เดิม) และเมื่อปี  พ..2512  ทางราชการได้ทำการก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์  กั้นแม่น้ำน่านทำให้น้ำเอ่อล้นท่วมครอบคลุมพื้นที่ของตำบลหาดล้า     ราษฎรได้พากันอพยพหนีน้ำมาสู่ที่อยู่ใหม่ โดยทางนิคมลำน้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์  เป็นผู้จัดสรรพื้นที่ทำกิน โดยวิธีการจับฉลากครอบครัวละ 15 ไร่     ปัจจุบันตำบลหาดล้า จึงประกอบไปด้วย ประชาชนหลากหลายหมู่บ้าน หลายตำบลของอำเภอท่าปลาที่โยกย้ายมาอยู่รวมกันเป็นตำบลหาดล้าปัจจุบัน

                เมื่อแรกที่อพยพกันมาใหม่ๆนั้นคุณพ่อไม่รู้ว่าจะปลูกอะไรดี กล้วยและอ้อยที่นำมาปลูกก็ไม่ค่อยได้ผลมากนักเนื่องจากน้ำท่าไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนที่เดิม ประกอบกับหน้าแล้งก็แล้งจัด คุณพ่อจึงได้นำเมล็ดมะม่วงหิมพานต์เข้ามาปลูกเป็นรายแรกๆของอำเภอหาดล้าก็ว่าได้  แต่เนื่องจากสมัยนั้นชาวบ้านยังไม่ค่อยรู้จักและนิยมบริโภคมากนัก  การแกะเมล็ดก็ยุ่งยากทีเดียวเนื่องจากยังไม่มีเครื่องแกะเมล็ด แต่การปลูกและขยายพันธุ์ก็ดำเนินมาเรื่อยๆ พร้อมๆกับการปลูกพืชไร่อื่นๆควบคู่ไปด้วย

                คุณวันทากล่าวเพิ่มเติมว่าประมาณปีพ.ศ. 2549 เกิดน้ำป่าใหลบ่าทำให้ภูเขาถล่มในพื้นที่เกิดความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตรมากมาย  ทางกองงานในพระองค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีได้เข้ามาสนับสนุนในด้านเงินทุนตลอดจน

พันธุ์มะม่วงหิมพานต์และเครื่องมือที่ใช้ในการแปรรูป            แทบครบวงจร จึงทำให้มีการรวมกลุ่มของชาวบ้านในแถบใกล้เคียงปลูกขยายพันธุ์และแปรรูปมะม่วงหิมพานต์เพิ่มมากขึ้น และเนื่องจาก มะม่วงหิมพานต์เป็นพืชที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว เมื่อเริ่มเข้าปีที่ 3 ของการปลูกก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว โดยจะออกผลในช่วงเดือน มี.ค. – พ.ค. ซึ่งเมื่อเกษตรกรเก็บเกี่ยวแล้วจะต้องนำผลที่ได้ไปตากแดดประมาณ 2-3 วัน ให้แห้ง แล้วจึงจะนำมาส่งขาย ในราคากิโลกรัมละ 25-30 บาท จาก ก็จะนำเมล็ดที่ได้เข้าสู่กระบวนการแปรรูป  

 

       

 

โดยนำผลมะม่วงหิมพานต์ไปต้มในน้ำเดือดจัด นาน 1 ชั่วโมง แล้วตักขึ้น ผึ่งทิ้งไว้ให้เย็น จากนั้นจึงนำผลที่ต้มแล้วไปกะเทาะเปลือก ขั้นตอนนี้ต้องใช้แรงงานคนในการกะเทาะเปลือกออกทีละผล

 

   

             ใช้แรงงานชาวบ้านในละแวกหมู่บ้าน  ทำให้แก้ปัญหาการว่างงานได้มากทีเดียว

 

ซึ่งทาง กลุ่ม จะจ้างแรงงานชาวบ้านในชุมชนทำและให้ค่าจ้างตามผลผลิตที่แกะออกได้ ในอัตรากิโลกรัมละ 13 บาท (ใน1 วัน 1 คน จะสามารถทำได้ประมาณ 13-15 กิโลกรัม ตามความชำนาญ) เมื่อกะเทาะเปลือกออกแล้วก็จะได้ออกมาเป็นเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่มีเยื่อหุ้ม ต้องนำเมล็ดเหล่านั้นเข้าตู้อบแห้งอีกครั้งเพื่อไล่ความชื้นออก

    

 

จากนั้นจึงนำไปแกะเยื่อหุ้มเมล็ดออกเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่ง ขั้นตอนนี้จะใช้คนในชุมชนให้มารับเมล็ดมะม่วงหิมพานต์หรืออาจนำไปแกะเยื่อที่บ้าน ก็ได้ โดยให้ค่าจ้างเป็นกิโลกรัม แล้วแต่ตกลงกัน เมื่อแกะเสร็จก็จะได้ออกมาเป็นเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่เรียกว่า “เมล็ดขาว” เมล็ดขาวเหล่านี้จะถูกส่งมา เพื่อคัดขนาดอีกครั้งหนึ่งก่อนจะส่งจำหน่าย ต่อไป

 

        

                                                                  ผลผลิตที่เตรียมการส่งจำหน่าย

 

 เมล็ดมะม่วงหิมพานต์สามารถคัดเกรดคุณภาพได้เป็น 5 ประเภทด้วยกันคือ ขนาดใหญ่ ราคา 240บาท/กก. ขนาดกลาง ราคา 200 บาท/กก. ขนาดเล็ก ราคา 170 บาท / กก. เมล็ดครึ่งซีก ราคา 160 บาท/กก. และ เมล็ดป่น ราคา 20-30 บาท / กก. (เมล็ดป่นนำไปโรยหน้าเค้ก และ ทำเบเกอรี่) โดยเมล็ดดิบปริมาณ 4.5 กิโลกรัม เมื่อแปรรูปแล้วจะได้ออกมาเป็นเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ 1 กิโลกรัม

      

                                                    คัดเกรด บรรจุหีบห่อเพื่อการจำหน่าย

 

                มะม่วงหิมพานต์ที่ปลูกอยู่ทั่วโลกมีไม่ต่ำกว่า 400 พันธุ์ แต่พันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้าในปัจจุบันมีไม่มากนัก ซึ่งได้จากการคัดเลือกจาก   พันธุ์พื้นเมืองที่มีลักษณะดีตรงตามความต้องการ สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตรได้ทำการคัดเลือก และได้ผ่านการรับรองพันธุ์แล้ว จำนวน 2-3 พันธุ์คือ  พันธุ์ศรีสะเกษ 60-1 และศรีสะเกษ 60-2 นอกจากพันธุ์ที่กล่าวมาแล้ว ยังมี พันธุ์ศิริชัย 25 ซึ่ง เกษตรกรบางรายอาจคัดเลือกพันธุ์ดีจากแหล่งต่าง ๆ มาปลูกเองก็ได้

                

 

คุณณภัทร  ภูริผล   เกษตรอำเภอท่าปลาได้แนะนำหลักในการคัดเลือกพันธุ์มะม่วงหิมพานต์ไว้ดังนี้

                ต้องเป็นพันธุ์ที่เมล็ดใหญ่ จำนวนเมล็ดต้องไม่เกิน 150 เมล็ด/กก.  ให้ผลผลิตสูงประมาณ 20 กก./ต้น/ปี

ต้านทานต่อโรคและแมลงได้ดี และให้ผลผลิตสม่ำเสมอทุกปี

          

                                                               

คุณลำดวน  ขำทอง ขณะกำลังทำการเพาะเมล็ดเพื่อจำหน่ายต้นพันธุ์

 

มะม่วงหิมพานต์สามารถ ปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์ดี ทำการเพาะใส่ถุงขนาด 5x8 นิ้ว หรือปลูกลงในหลุมเลย โดยกดเมล็ดด้านเว้าลงให้จมจนมิดวางเมล็ดเอียง 45 องศา อายุต้นกล้าที่เพาะในถุงพลาสติกไม่ควรเกิน 4 เดือน ก่อนย้ายลงปลูก โดยขุดหลุมให้กว้าง ยาว ลึก ประมาณ 50-100 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้นและระหว่างแถว 6 เมตร

 

         

 

จากนั้น ผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 3-5 กิโลกรัม คลุกกับดินบนที่กองไว้ กลบลงในหลุมประมาณครึ่งหลุม นำต้น มะม่วงหิมพานต์ที่จะปลูกวางลงในหลุมให้โคนต้นอยู่เหนือปากหลุมเล็กน้อย ปักไม้พยุงลำต้นโดยใช้เชือกผูกติด กับต้นมะม่วงหิมพานต์เพื่อป้องกันลมโยก จึงนำดินที่เหลือกลบหลุมให้แน่น

 

       

                            แถวมะม่วงหิมพานต์เมื่อยังเล็ก ควรปลูกพืชแซม เช่น ข้าวฟ่าง ข้าวโพดและ ถั่วต่าง ๆ

 

 แม้ว่ามะม่วงหิมพานต์จะเป็นพืชที่ปลูกง่าย แต่ถ้ามีการปฏิบัติบำรุงรักษาที่ดีแล้วจะทำให้มะม่วงหิมพานต์เจริญเติบโตดี และผลผลิตสูงขึ้น การปฏิบัติดูแลรักษามะม่วงหิมพานต์ที่ถูกต้อง ควรมีการใส่ปุ๋ย

โดยแบ่งใส่ปีละ 2 ครั้ง และใส่ปุ๋ยคอกร่วมด้วย โดยใส่รอบ ๆ ทรงพุ่ม  ห้ามใส่ชิดโคนต้นซึ่งอาจทำให้ลำต้นเน่าได้โดยง่าย

 

      

            ควรใส่ปุ๋ยขณะที่ดินมีความชื้น                                                        ควรกำจัดวัชพืชก่อนการใส่ปุ๋ยทุกครั้ง  

  

เมื่อมะม่วงหิมพานต์ที่มีอายุประมาณ 3-4 ปีขึ้น ควรพรวนดินตื้น ๆ เป็นวงแหวนรอบบริเวณรัศมีของทรงพุ่ม ไม่ควรพรวนดินลึกเข้าไปภายในทรงพุ่มเพราะจะกระทบกระเทือนระบบราก แบ่งจำนวนปุ๋ยที่จะใส่ออกเป็น 4 ส่วน ใส่ปุ๋ยบริเวณรอบ ๆ ทรงพุ่มตรงบริเวณที่พรวนประมาณ 3 ส่วน อีก 1 ส่วน โรยบนพื้นดินภายในทรงพุ่ม แต่ควรระวังอย่าใส่ปุ๋ยให้ชิดกับโคนต้น เพราะปุ๋ยจะทำให้เปลือกของลำต้นเน่า และจะทำให้ตายได้ เหตุผลที่ใส่ปุ๋ยรอบบริเวณรัศมีทรงพุ่ม เพราะรากฝอยและรากแขนงซึ่งเป็นรากที่หาอาหารของต้นไม้จะอยู่มากในบริเวณรัศมีทรงพุ่ม หลังจากใส่ปุ๋ยแล้วควรรดน้ำด้วยเพื่อเป็นการใส่ปุ๋ยละลายแทรกซึมลงไปในดิน รากจะใช้ได้ทันที

                นอกจากนั้นในการจัดการเพื่อผลิตมะม่วงหิมพานต์ให้ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง  คุณณภัทรแนะนำว่าควรเน้น    การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน เน้นที่ใช้สารเคมีน้อยที่สุดหรือไม่ใช้เลย

 การใช้สารเคมีอย่างถูกต้องปลอดภัย นั้น ห้ามใช้สารเคมีที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายตาม พ...วัตถุอันตรายปี 2535  และใช้สารเคมีในชนิด อัตรา และระยะเวลา ตามที่กำหนดในคำแนะนำอย่างเคร่งครัด  หยุดใช้สารเคมีก่อนเก็บมะม่วงหิมพานต์ตามเวลาที่ระบุในคำแนะนำ  และควร บันทึกรายละเอียดการใช้สารเคมีทุกครั้ง

 

                                         ควรมีการพ่นยาตามเวลาที่ระบุในคำแนะนำ                                   การตัดแต่งกิ่ง

                 

                การจัดการเพื่อเสริมความสมบูรณ์แข็งแรง ของต้นและผลผลิต 

                   เมื่อมะม่วงหิมพานต์มีอายุ 1-2 ปี ควรตัดแต่งให้เหลือลำต้นเดียว- ตัดแต่งกิ่งทุกปี โดยตัดแขนงที่ไม่สมบูรณ์ อยู่ในทรงพุ่ม หรือกิ่งที่มีโรคแมลงทำลาย  ปีแรก ควรตัดกิ่งแขนงให้สูงจากดินไม่เกิน 1 คืบ

ปีที่ 2 ควรตัดแต่งกิ่งแขนงให้สูงจากดินประมาณ 1 ไม้บรรทัด ส่วนในปีต่อๆไป ควรตัดแต่งกิ่งแขนงขยับขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงประมาณเมตรครึ่งให้หยุดตัดได้

                ข้อควรพิจารณาในการตัดแต่งกิ่ง   ตัดแต่งกิ่งแขนงเล็กที่เกิไปทางกิ่งลำต้นใหญ่ออก   ตัดกิ่งแขนงเล็กที่ใบไม่ถูกแสงออก  ทรงพุ่มที่เกิดชิดและชนกันระหว่างต้นให้ตัดออก        ขณะที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ยังเล็ก อายุไม่เกิน 1 ปี ในระยะที่ฝนทิ้งช่วงควรมีการรดน้ำบ้าง เพื่อช่วยต้นมะม่วงหิมพานต์ให้เติบโต ผ่านพ้นไปจนสามารถยืนต้น เองได้

 

                โรคและแมลงศัตรูที่พบในสวนมะม่วงหิมพานต์ ได้แก่

                หนอนเจาะลำต้น เป็นตัวอ่อนด้วง หนวดยาว เจาะเนื้อไม้ภายใน พบขี้หนอนที่ปากรู จับทำลายหรือใช้สารไดโครวอส หรือโมโนโครโตฟอส (อโซดริน) อัตรา 10 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดเข้าปากรูแล้วใช้ดินเหนียวอุดปากรู

 

                

                หนอนเจาะลำต้น                                                                   สารเคมีที่ใช้

 

 เพลี้ยไฟ มีขนาดเล็กมาก ตัวอ่อนสีเหลืองคาดแดง ตัวแก่สีดำ ระบาดช่วงร้อน แล้ง ทำลายใบอ่อน ยอดอ่อน ช่อดอก ผลอ่อน ใช้สารคาร์บาริล (เซฟวิน) อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือพอสซ์อัตรา 20 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร

 เพลี้ยแป้งและเพลี้ยอ่อน เกาะดูดน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อน ใบอ่อน ช่อดอก ผลอ่อน อาการที่ถูกทำลายจะหงิกงอ เหี่ยวแห้ง เมื่อพบใช้สารมาลาไธออน อัตรา 45 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือพอสซ์ อัตรา 50 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร

 

          

                เพลี้ยแป้งและเพลี้ยอ่อน                                              ด้วงงวงเจาะยอด

 ด้วงงวงเจาะยอด ตัวแก่เจาะยอดอ่อนและวางไข่เป็นตัวหนอนกัดกินเนื้อไม้ในยอดทำให้ยอดแห้ง ป้องกันกำจัดโดยจับทำลายตัวแก่ ฉีดพ่นสารพวกโมโนโครโตฟอส หรือเมธามิโดฟอส เช่น ทามารอน อัตรา 30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร

      

                   โรคช่อดอกแห้ง                                                      ปลวกกินเนื้อไม้

 

 โรคช่อดอกแห้ง เชื้อราทำให้ช่อดอกแห้งเป็นสีน้ำตาล ทำให้ดอกร่วงไม่ติดผลป้องกันกำจัดโดยฉีดช่อดอกด้วยสารพวกแมนโคเซ็บ เช่น ไดเทน เอ็ม-45 อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

 โรคแอนเทรคโนส เชื้อราเข้าทำลาย ผลปลอมและเมล็ดจะทำให้เน่าหรือเหี่ยว ถ้าทำลายช่อดอกและดอกจะทำให้เน่าเป็นสีดำและร่วงหล่น ป้องกันกำจัดโดยฉีดพ่นสารค๊อปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ เช่น คูปราวิท อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

 

จะเห็นได้ว่ามะม่วงหิมพานต์ปลูกง่าย ดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก ทนแล้ง โรคแมลง ศัตรูมีน้อยมาก ผลผลิตในปัจจุบันมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ข้อดีของมะม่วงหิมพานต์ คือ ทุกส่วนของต้น สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด เปลือกที่แกะเมล็ดออกแล้วสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการต้มเมล็ดได้ หรืออาจจะรวบรวมส่งโรงงานเพื่อสกัดสารเคมีในการทำน้ำมันเบรคก็ได้  ส่วนผลผลิตที่มีคุณภาพดี ตลาดมีความต้องการจำนวนมาก การลงทุนต่ำ ผลตอบแทนค่อนข้างสูง ใช้แรงงานในครัวเรือนในการแปรรูปได้ ไม่ต้องเข้าไปหางานทำในเมือง อาจกล่าวได้อย่างเต็มปากว่าเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่มีอนาคตที่สดใสไม่น้อยทีเดียว

 

ท่านที่สนใจข้อมูลการปลูกและขยายพันธุ์มะม่วงหิมพานต์   เพิ่มเติมติดต่อได้ที่

 สำนักงานเกษตรอำเภอท่าปลา  144 หมู่ 1 อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์  โทร.055499121  

                 และที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านหาดไก่ต้อย ตำบลหาดล้า อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ โทร. 0869314924

                 แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

1.       สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร จตุจักร กทม. โทร.0-2579-0508,0-2579-0583

2.       ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ต.หนองหญ้าปล้อง อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ โทร.0-4561-2402

3.       คุณจุฑารัตน์  ล้อมแพน (ลูกสาวคุณพ่อสำรวยและคุณแม่ลำดวน  ขำทอง) ให้ข้อมูลในการสัมภาษณ์

4.       เอกสารเผยแพร่ มะม่วงหิมพานต์และการแปรรูป  สำนักบริการคอมพิวเตอร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  8 มกราคม 2547

5.       ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

35 หมู่ที่ 3 เทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
โทรศัพท์ : (662) 577-9000,577-9155-6, 577-9175-6 โทรสาร : (662) 577-9009, 577-9156, 577-9177                                                       

หรือหากท่านที่สนใจข้อมูลในรูปแบบ วีซีดี เรื่อง การปลูกและขยายพันธุ์มะม่วงหิมพานต์ และการแปรรูป สามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่  สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ลาดยาว จตุจักร กทม. 10900 โทร. 02-9428820-9 ต่อ 456  หรือ  http://www.eto.ku.ac.th/media/index.html

 

ข้อแนะนำเรื่องที่พัก

           บ้านพักเขื่อนสิริกิต์ ภายในบริเวณเขื่อนสิริกิต์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โทร. 0-5541-2639-40 ต่อ 2051, 2505 หรือกรุงเทพฯ โทร. (02) 436-3179
           สำหรับที่พักมีลักษณะเป็นเรือนแถวปรับอากาศมี จำนวน 50 ห้อง พักได้ห้องละ 2 คน ราคาห้องละ 600 บาท บ้านพักปรับอากาศ จำนวน 10 หลัง ราคาหลังละ 1,100 บาท (โดยประมาณ) เปิดให้จองล่วงหน้าภายใน 3 เดือน ติดต่อสอบถามรายละเอียดที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โทร. 436-3179

           

 

จังหวัดอุตรดิตถ์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 491 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ ประมาณ 5-6 ชั่วโมง ตามเส้นทางกรุงเทพฯ-นครสวรรค์-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์ และจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1045 ถึงเขื่อนสิริกิติ์ อีก 58 กิโลเมตร

 

ฉบับหน้า จะขอนำท่านไปดูการปลูกขยายพันธุ์ผักหวานป่า  ที่อำเภอบ้านหมอ จ. สระบุรี ครับ

คอลัมน์ แนะนำ ทำกินทั่วถิ่นไทย

                 

 

กลับหน้าแรก