ยินดีต้อนรับสู่
พิเศษ โฮมเพจ

Welcome to Pises Homepage

 




พุทธธรรมน่ารู้ : ธรรมะสำหรับผู้นำ*

ประเทศชาติบ้านเมืองที่มีแต่ความสงบ ประชาชนอยู่กันอย่างมีความสุขได้นั้น
สิ่งสำคัญประการหนึ่งมาจากการมีผู้นำที่ดี มีคุณธรรม มีความคิดก้าวหน้า
ฉลาดสามารถในการจัดกิจการงานต่าง ๆ ของชาติบ้านเมือง ทำให้ชาติบ้านเมือง
เจริญรุ่งเรืองรุดหน้าเท่าเทียมนานาประเทศ ดังภาษิตที่ว่า
"ผู้นำดี เป็นศรีแก่ชาติ ผู้นำเฉลียวฉลาด ประเทศชาติรุ่งเรือง" เป็นต้น

ในวันนี้จะขอนำธรรมะของคนที่เป็นผู้นำ 8 ประการ มากล่าว เพื่อให้คนที่เป็นผู้นำและคนที่ต้องการจะเป็นผู้นำ ได้นำไปศึกษาและนำไปประพฤติปฏิบัติตามสมควรแก่ตนต่อไป

ประการที่ 1 ความอดทน หมายถึง การห้ามจิตใจ เมื่อได้พบกับเหตุการณ์อันจะก่อให้เกิดเรื่องหรือแสดงกิริยาที่ไม่ดีออกมา ต้องมีความอดทน ไม่หุนหันพลันแล่น เช่น อดทนต่อความยากลำบากในขณะที่ทำการงาน ไม่เห็นแก่ความหนาว ความร้อน เช้าสายบ่ายค่ำ อดทนต่อความเจ็บใจ ในเมื่อคนอื่นทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจให้แก่ตน

ประการที่ 2 ความเป็นนักสู้ หมายถึง เป็นผู้มีความเข้มแข็ง กล้าหาญ หนักเอาเบาสู้ มุ่งความสำเร็จกิจการงานเป็นที่ตั้ง ไม่หลงคำยอ ไม่ท้อคำติ มุ่งมั่นฝ่าฟันอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ ปฏิบัติงานทุกอย่างให้บรรลุเป้าหมาย


ประการที่ 3 ความเป็นผู้ตื่น หมายถึง เป็นคนตื่นตัว ว่องไวต่อปัญหาตลอดเวลา มีความคิดก้าวหน้า ริเริ่มสร้างสรรค์ มีความคิดยืดหยุ่น รวมทั้งมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล สามารถที่จะนำความคิดออกมาใช้ให้ทันต่อสถานการณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า

ประการที่ 4 ความขยันหมั่นเพียร หมายถึง มีความวิริยะอุตสาหะ มีความจริงใจในการปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นทาสของความเกียจคร้าน มีความกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา


ประการที่ 5 เมตตากรุณา หมายถึง มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูล โอบอ้อมอารี ในลักษณะสงเคราะห์ อนุเคราะห์ หรือบูชาคุณความดีแล้วแต่เวลา สถานที่ และบุคคล มีความรักและความหวังดีเป็นที่ตั้ง

ประการที่ 6 ความยุติธรรม หมายถึง มีความเที่ยงธรรม เสมอภาคในคนทุกประเภท ไม่แบ่งแยกพวกเขาพวกเรา ไม่มีอคติ ความลำเอียง ซึ่งความลำเอียงนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ 4 อย่างคือ ลำเอียงเพราะความรัก ลำเอียงเพราะความโกรธ ลำเอียงเพราะความกลัว และลำเอียงเพราะความหลง การพิจารณาเลื่อนตำแหน่งก็พิจารณาจากความรู้ ความสามารถและคุณธรรมความดีผู้นำที่ปฏิบัติได้ดังนี้ย่อมเป็นที่รักของหมู่ชน ได้คนที่มีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรมความดี มาเป็นบริวารอยู่เสมอ


ประการที่ 7 การหมั่นตรวจตรากิจการงาน หมายถึง การสอดส่องดูแลการงานอยู่เสมอ เมื่อพบข้อบกพร่องก็รีบแก้ไข อย่าปล่อยไว้จะลำบากในการแก้ไข และต้องตรวจตราดูลำดับความสำคัญของงานว่า งานไหนควรทำก่อนหลัง ถ้างานไหนสำคัญก็ควรทำงานนั้นก่อน งานไหนควรทำเอง งานไหนควรแบ่งมอบหมายให้คนอื่นรับผิดชอบ รวมทั้งต้องรู้จักแบ่งงานให้ถูกกับคนด้วย คนที่มีความรู้ ถนัดสามารถในเรื่องไหน ก็มอบหมายเรื่องนั้นให้ทำ

ประการที่ 8 ความซื่อสัตย์สุจริต หมายถึง มีความซื่อตรง มั่นคงอยู่ในศีลธรรม มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น มีความสุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจ


ดังนั้น คนที่เป็นผู้นำ จึงมีความสำคัญเพราะเรียกได้ว่าเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อื่นด้วย สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
"บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้นำ ถ้าประพฤติไม่เป็นธรรม คนทั้งหมดก็ทำตามอย่าง ประเทศชาติก็เดือดร้อน แต่ถ้าประพฤติเป็นธรรม คนทั้งหมดก็ประพฤติตามอย่างบ้าง ประเทศชาติก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง เปรียบเสมือนกับฝูงโคที่กำลังข้ามฟาก ถ้าโคจ่าฝูงนำไปคด โคทั้งหมดก็เดินคดเคี้ยวตาม หากโคจ่าฝูงนำไปตรง โคทั้งหมดก็ไปตรง ฉะนั้น"


*คัดจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน 2547 ศาสนา-สารธรรม หน้า 27
คอลัมน์ : เทวราช ธรรมสภา พระราชสุธี(โสภณ โสภณจิตโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร
ผู้จัดทำ homepage ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ และขอแสดงความขอบพระคุณเป็นอย่างสูงไว้ ณ ที่นี้
(พิเศษ 26/6/2547)


 

 

 

 

 


กลับหน้าแรก
หน้าต่อไป>>>