เอกสารประกอบการบรรยาย

โครงการสัมมนา

“ทิศทางการดำเนินงานของสหกรณ์อิสลาม”

 

 

สหกรณ์อิสลาม : แนวคิดและทิศทาง

โดย

สยุมพร  โยธาสมุทร

 

วันที่ 26-28 มกราคม 2553 

ณ โรงแรมหาดใหญ่พาราไดส์ แอนด์ รีสอร์ท

 อำเภอ หาดใหญ่ จังหวัด สงขลา

 

สำนักพัฒนาธุรกิจสหกรณ์

สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์

ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ที่ 18

กรมส่งเสริมสหกรณ์

 

 

 

สหกรณ์อิสลาม : แนวคิดและทิศทาง [1] [2]

            สยุมพร  โยธาสมุทร[3]

 

ความนำ

การพังทลายของภาคเศรษฐกิจปลอมจนแทบไม่เห็นเค้าของภาคเศรษฐกิจจริงหลังจากที่มีการพองตัวอันเนื่องจากการถูกปั่นให้พองขึ้นด้วยฤทธ์ของความเห็นแก่ตัว ลุ่มหลงในการเก็งกำไรและความเสี่ยงแบบการพนัน ทำนองเดียวกันกับการเป่าฟองสบู่หรือหมากฝรั่งจนเกินความหยุ่นที่จะรับได้ ซึ่งย่อมต้องมีการแตกตัวเช่นกัน  พิษภัยและความเจ็บปวดจากการนี้มีมากเพียงใด คงไม่จำต้องสาธยายเท่าใดนัก  เพราะสภาพที่กระจายไปทั่วของการปิดกิจการกันเป็นทิวแถว ธุรกิจซบเซา สภาพข้าวยากหมากแพง  รวมไปถึงปัญหาอาชญากรรมและการตัดช่องน้อยของคนขาดสติและไร้ศรัทธา ฯลฯ ล้วนเป็นข้อยืนยันได้อย่างดีถึงความสาหัสสากรรจ์ของปัญหาดังกล่าวที่มีในสภาพสังคมปัจจุบัน

การแสวงหาทางออกจากสภาพปัญหาที่วิกฤติดังกล่าว นอกจากต้องอาศัยความอดทนและแรงศรัทธาอันมั่นคงเป็นพื้นฐานแล้ว  อย่างน้อยที่สุดการหันกลับมาตั้งต้นกันที่ภาคเศรษฐกิจจริง ที่ของจริง  ที่ธุรกิจจริง  และที่การทำงานด้วยน้ำพักน้ำแรงจริง จำเป็นต้องให้บังเกิดขึ้น    นอกจากนี้ความพยายามในการช่วยเหลือตนเอง พึ่งพาตนเองก็จำต้องกระทำให้หนักหน่วงขึ้น 

ทว่า การช่วยเหลือตนเองในภาวะถดถอยเช่นนี้ก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ  ดังนั้น การรวมพลังกันหรือรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยเหลือตนเอง โดยไม่มองข้ามที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันในรูปของ “สหกรณ์” จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความสนใจหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นยุทธวิธีเพื่อกู้ภัยเศรษฐกิจในยามนี้

อย่างไรก็ตาม บรรดาสหกรณ์ที่มีมาแล้วมากมาย ก็ใช่ว่าทุกแห่งเหล่านั้นจะเป็นสหกรณ์ที่แท้จริง ที่ยืนตามแนวคิดและค่านิยมโดยแท้ของการสหกรณ์ก็หาไม่ ยังมีสหกรณ์แต่ในนามอีกไม่น้อยที่นำให้ผู้ที่ติดตามมาภายหลังต้องพลอยเขวทิศทาง

ดังนั้น หากผู้เลือกเอาสหกรณ์มาเป็นยุทธวิธีกู้ภัย คือ ผู้เป็นมุสลิมด้วยแล้ว การที่จะพิจารณาเหมาเอากิจการที่ชื่อว่าสหกรณ์บางแห่งมาปรับใช้ภายใต้กรอบอิสลามนั้น แน่นอนว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จักต้องระมัดระวังและประคับประคองให้ยุทธวิธีดังกล่าวได้สะท้อนถึงเอกลักษณ์ของความเป็นสหกรณ์ที่แท้จริง ซึ่งต้องไม่หนีห่างจากครรลองอิสลาม

 

สหกรณ์กับอิสลาม : แนวคิด

สำหรับอิสลามซึ่งเป็นวิถีการดำเนินชีวิตที่คำนึงทั้งในส่วนปัจเจกบุคคล  สังคมและ สรรพสิ่งทั้งปวง มิได้มองข้ามที่จะกำหนดกรอบแนวทางในการประกอบธุรกรรมระหว่างมนุษย์ด้วยกันที่จะให้เป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ เอื้อเฟื้อต่อกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการธำรงค์ไว้ซึ่งความสงบสันติของสังคม อันสอดคล้องกับรากศัพท์เดิมของคำว่า “อิสลาม”  ซึ่งหมายถึง สันติ

            ดังนั้น สำหรับผู้เป็นมุสลิมทุกคนนั้น หากได้เป็นผู้สวามิภักดิ์ต่อเอกองค์อัลลอฮ. ซุบฮานะฮูวะตะอาลาด้วยศรัทธาอย่างแท้จริงโดยไม่บิดพลิ้วแล้ว    ทุกการกระทำและแม้แต่ความนึกคิด แน่นอนว่าย่อมสะท้อนออกมาในวิถีแห่งอิสลามอย่างแน่นอน 

ในการนี้ ย่อมหมายรวมถึงการหันไปประกอบธุรกิจประเภทใดๆ ก็ตาม หรือแม้แต่ธุรกิจสหกรณ์เองก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เป็นมุสลิมจะต้องนำพาธุรกิจนั้นๆ ของตนให้เดินอยู่บนเส้นทางของอิสลามด้วย

กรณีสหกรณ์นั้นจัดเป็นธุรกิจที่ผู้เป็นเจ้าของกิจการ ผู้รับบริการ และผู้ควบคุมกิจการ รวมอยู่ในบุคคลเดียวกัน ในขณะที่กิจการหรือธุรกิจประเภทอื่นกลับแยกบทบาทเหล่านี้ไว้ในต่างบุคคล แต่ในสหกรณ์แล้วกลับสวมบทบาทที่โดยทั่วไปแล้วน่าจะขัดแย้งกันให้รวมไว้ในคนเดียวกัน กล่าวคือ สมาชิกสหกรณ์ย่อมเป็นทั้งเจ้าของสหกรณ์ เป็นผู้รับบริการจากสหกรณ์ และเป็นผู้ควบคุมดูแลสหกรณ์ ซึ่งดังกล่าวย่อมทำให้เป็นที่หวังได้ว่าการลิดรอนผลประโยชน์ของผู้ที่ดำรงบทบาทหนึ่งต่อผู้ที่ดำรงต่างบทบาทกันย่อมไม่น่าจะปรากฎขึ้น

ดังนั้น ปฏิบัติการต่างๆ บนแนวทางสหกรณ์จึงย่อมไม่ใช่การเอาเปรียบของเจ้าของ และไม่ใช่การเอาแต่ได้ของผู้รับบริการ

...ย่อมไม่ใช่การทำลายคนมั่งมี และทั้งไม่ใช่การข่มเหงคนยากจน

...ไม่ใช่การลำเอียงเข้าข้างนายจ้าง และไม่ใช่การกดขี่ลูกจ้าง

...ไม่ใช่การกอบโกยเอาจากผู้ผลิต และไม่ใช่การเอาเปรียบผู้บริโภค

...อีกทั้งไม่ใช่การมุ่งแต่ช่วยเฉพาะตน โดยเบียดบังและไม่ไยดีผู้อื่น

หากแต่สหกรณ์เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการคลี่คลายปัญหาทางเศรษฐกิจ ที่มีแก่นอยู่ที่ การช่วยตนเองและช่วยเหลือกันและกัน มีการผนึกกำลังกันด้วยคติ แต่ละคนเพื่อหมู่คณะ และหมู่คณะเพื่อแต่ละคน อันก่อให้เกิดการประสานประโยชน์อย่างเป็นธรรมทั้งส่วนตัวและส่วนรวม

ฉะนั้น สมมติว่าในชุมชนขาดแหล่งขายเครื่องอุปโภคบริโภคที่มีคุณภาพและราคายุติธรรม ผู้คนในชุมชนนั้นจึงอาจรวมตัว รวมทุนกันตั้งสหกรณ์ที่ทุกคนมีสิทธิเป็นเจ้าของ เพื่อให้สหกรณ์ทำหน้าที่จัดหาสินค้ามาจำหน่ายตามที่สมาชิกต้องการ ซึ่งสินค้าเหล่านี้ก็เพื่อมุ่งขายแก่สมาชิกเป็นสำคัญ แม้อาจมีบุคคลภายนอกเป็นลูกค้าสหกรณ์ด้วยเช่นกัน แต่ที่ดีควรแนะนำเขาเหล่านั้นให้เข้าร่วมเป็นสมาชิก เพราะขณะที่เงินในกระเป๋าหนึ่งของเขาจ่ายออกไปในฐานะเจ้าของที่ลงทุนในสหกรณ์ แต่ขณะเดียวกันเงินในอีกกระเป๋าหนึ่งของเขาเองก็ต้องจ่ายเพื่อซื้อสินค้าในฐานะลูกค้าสหกรณ์ ดังนั้น ในการค้าขายสินค้านั้นๆ ถ้าเกิดได้กำไร กำไรย่อมเป็นของเจ้าของ ซึ่งก็คือกลับเข้ากระเป๋าสมาชิกอยู่ดี อันเป็นการลดค่าใช้จ่ายของเขาในฐานะเป็นผู้รับบริการหรือเป็นผู้ซื้ออีกด้วย เช่นนี้แล้วในสหกรณ์จึงทำธุรกิจเพียงเพื่อคลี่คลายปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของสมาชิก โดยไม่ได้มุ่งแสวงหากำไรกันเป็นกอบเป็นกำกลับเข้าสู่สหกรณ์

นอกจากการคลี่คลายปัญหาทางเศรษฐกิจของสมาชิกแล้ว สหกรณ์ยังต้องก้าวต่อไปถึงการคลี่คลายปัญหาสังคมด้วย เพราะไม่ถือว่าสหกรณ์ใดๆ จะประสบความสำเร็จได้เลย หากสหกรณ์นั้นๆ มีแต่เพียงยอดกำไรที่สูงขึ้นๆ อย่างต่อเนื่อง มียอดขายและส่วนแบ่งการตลาดที่มากมาย ขยายกิจการจนมีสถานที่ทำการใหญ่โตหรูหรา แต่ไม่ได้จรรโลงให้สังคมสมาชิกดีขึ้น ผู้คนในนาม “สมาชิกสหกรณ์” ยังคงตกเป็นเหยื่อแห่งความขัดแย้ง การกดขี่ อยุติธรรมและการล่วงละเมิด ถูกถาโถมด้วยวัฒนธรรมบริโภคนิยม เขลาจากองค์ความรู้ต่างๆ ที่จะให้สมาชิกสามารถดำรงชีพอย่างสันติสุขโดยคงไว้ซึ่งการรักษาสิทธิและและดำรงคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ของตนไว้ได้ ฉะนั้น ในทุกสหกรณ์จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องยึดมั่นและปฏิบัติให้เป็นที่ปรากฎจริงว่า ความเป็นมนุษย์ในทุกผู้ทุกคนนั้นมีเท่าเทียมกัน และมนุษย์เองจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน พึ่งพาอาศัยกัน มีน้ำใจเผื่อแผ่เอื้อเฟื้อต่อกัน เปี่ยมคุณธรรม อย่างรู้จักหน้าที่และรับผิดชอบ ซึ่งเหล่านี้น่าจะต้องให้สัมผัสได้ในสหกรณ์

ดังนั้น แน่นอนว่า สหกรณ์ย่อมไม่อาศัยความร่วมมือกัน เพื่อหวังประโยชน์ในการมีอิทธิพลครอบงำผู้ที่ด้อยกว่า

...สหกรณ์ย่อมไม่ยกเอาความร่วมมือของมวลสมาชิกมาเป็นช่องทางเพียงเพื่อเป็นฐานที่แข็งแกร่งของการไต่เต้าทางการเมืองเฉพาะบุคคล

...สหกรณ์ย่อมไม่ไหลตามน้ำไปกับกระแสโสโครกของวัฒนธรรมอบายมุขและล้ำเส้นจริยธรรม

...สหกรณ์ย่อมไม่รักที่จะเอื้อผลประโยชน์ทับซ้อนให้แก่บางคน มากไปกว่ารักสมาชิกและผองเพื่อนร่วมชุมชน

...และสหกรณ์ย่อมไม่ผลักดันตนเองให้เป็นแนวปกป้องผลประโยชน์ให้แก่ตนและพวกพ้องมากเสียกว่าการใส่ใจต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง

อย่างไรก็ตาม      จากการที่สหกรณ์เป็นองค์การธุรกิจที่ต่างจากธุรกิจอื่น  โดยเป็นธุรกิจที่รวมเอาค่านิยมเชิงจริยธรรมให้เดินควบคู่กันไปพร้อมๆ กับการประกอบกิจกรรมเชิงธุรกิจ  อย่างมิใช่การมุ่งหวังแต่จะให้ธุรกิจของตนเติบโตด้วยการกอบโกยกำไร หรือด้วยการฉกฉวยแสวงประโยชน์อย่างเห็นแก่ตัว   ดังนั้น หากจะยังคงเป็นสหกรณ์ที่แท้จริงอยู่ได้ ธุรกิจสหกรณ์จำเป็นต้องมุ่งที่จะผสานจุดมุ่งหมายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างสมดุล ทั้งนี้ด้วยการแสดงบทบาทของตนในฐานะธุรกิจที่มีเจตนารมณ์ส่งเสริมความก้าวหน้าและสวัสดิภาพของมนุษย์ อย่างมีจุดยืนในการส่งเสริมค่านิยมทางสังคมและจริยธรรม ตลอดจนยกระดับชีวิตมนุษย์ให้เป็นไปอย่างมีคุณค่า

ดังนั้น หากแม้สหกรณ์จะดำเนินธุรกิจได้ผลดีเพียงใด  แต่ไม่อาจสร้างคุณค่าที่ธำรงค์ไว้ซึ่งศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ที่จำเป็นต้องต่างจากวัตถุหรือสิ่งมีชีวิตประเภทอื่นได้แล้ว  ก็ไม่บังควรที่จะเรียกขานว่าเป็น “สหกรณ์” ได้อีกต่อไป  และในทำนองเดียวกัน  สหกรณ์แม้จะดำเนินธุรกิจได้ผลดีเพียงใด  แต่หากขาดซึ่งแนวคิด ค่านิยมเชิงจริยธรรมที่สวมเข้าเป็นเนื้อเดียวกับทุกย่างก้าวของการประกอบธุรกิจแล้วไซร้  ก็มิอาจเรียกขานได้เลยว่าเป็น “สหกรณ์” ถึงแม้จะตั้งชื่อตนเองไว้ว่า “สหกรณ์” ก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ ในประเด็นที่เกี่ยวกับแนวคิดและค่านิยมนั้น  คงไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า  จริยธรรมที่สหกรณ์เอ่ยอ้างถึงนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่บนเส้นทาง “อิสลาม”  ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนช่วยเหลือตนเอง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ความรับผิดชอบต่อตนเอง  ความรับผิดชอบต่อสังคม ความเสมอภาค เที่ยงธรรม ซื่อสัตย์ โปร่งใส สามัคคี เอื้ออาทรต่อรอบข้าง  และการพัฒนามนุษย์ให้หลุดพ้นจากความเขลา ดังปรากฏคำสังใช้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ไว้อย่างมากมาย ทั้งจากในคัมภีร์อัลกุรอาน และอัลฮะดิส ตัวอย่างเช่น

“และพวกเจ้าจงช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นคุณธรรมและการยำเกรง และจงอย่าช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นบาป และการเป็นศัตรูกัน”         (อัลมาอิดะฮฺ  5:2)

 

“ผู้ใดให้ความช่วยเหลือกันอย่างดี ความดีนั้นก็จะได้แก่เขา และผู้ใดที่ให้ความช่วยเหลือกันอย่างเลว ความเลวนั้นก็จะได้แก่เขา และอัลลอฮฺนั้นทรงสามารถเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง”                                                        (อันนิซาอฺ 4:85 )

 

“และมุฮัมมัดจงกล่าวเถิดว่า พวกท่านจงทำงานกันเถิด อัลลอฺ จะทรงเห็นการงานของพวกท่าน และร่อซูลของพระองค์และบรรดาผู้ศรัทธา (มุอฺมิน) ก็จะเห็นด้วย และพวกท่านจะถูกนำกลับไปยังพระผู้ทรงรอบรู้ในสิ่งเร้นลับและสิ่งเปิดเผยแล้วพระองค์จะทรงแจ้งแก่พวกท่านในสิ่งที่พวกท่านกระทำไว้ “

(อัตเตาว์บะฮฺ 9:105)

“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงอย่าทุจริตต่ออัลลอฮฺ และร่อซูล และจงอย่าทุจริตต่อบรรดาของฝากของพวกเจ้าทั้งๆ ที่พวกเจ้ารู้กันอยู่”            (อัลอันฟาล 8:27)

“และเมื่อพวกเจ้าพูด ก็จงพูดด้วยความยุติธรรมและแม้ว่าเขาจะเป็นญาติที่ใกล้ชิดก็ตาม”                                                                     (อัลอันอาม 6:152)

 

“ผู้ใดกระทำความดีไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา ดังนั้นเราจะให้เขามีชีวิตที่ดี และแน่นอน เราจะตอบแทนพวกเขาซึ่งรางวัลของพวกเขาที่ดียิ่งกว่าที่เคยกระทำไว้”                                                (อันนะฮฺล์ 16:97)

 

“และจงอย่าฟุ่มเฟือย แท้จริง พระองค์ไม่ทรงชอบบรรดาผู้ฟุ่มเฟือยทั้งหลาย”                                                                            (อัลอันอาม 6:141)

 

“จงภักดีต่ออัลลอฮฺ และจงเกรงกลัวต่อวันสุดท้าย และอย่าก่อความเสียหายในแผ่นดินด้วยการเป็นผู้บ่อนทำลาย”                                    (อัลอังกะบู๊ต 29:36)

 

สำหรับตัวอย่างหลักฐานจากฮะดิส ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

“ท่านทั้งหลายจงระวังการอธรรม แท้จริงการอธรรมนั้น ผู้ที่ปฏิบัติจะประสบกับความมืดมนในวันปรโลก”                                                    (บันทึกโดย มุสลิม)

 

“การศึกษาเป็นหน้าที่ของมุสลิมทั้งชายหญิง”

     (บันทึกโดย อัลบัยฮะกีย์ และอัฎฎอบรอนีย์)

“อุปมาบรรดาผู้ศรัทธาในด้านความรัก ความเอ็นดูเมตตา และการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลของพวกเขาที่มีต่อกัน อุปไมยดังร่างกาย กล่าวคือ เมื่ออวัยวะหนึ่งอวัยวะใดเจ็บป่วย อวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกายก็จะเจ็บป่วยไปด้วยทั้งร่างกาย พาให้นอนไม่หลับ เกิดอาการไข้”                     (บันทึกโดย บุคอรีย์ และมุสลิม)

 

“ท่านทั้งหลายอย่าอิจฉาริษยากัน อย่าหลอกลวงกัน อย่าเกลียดกัน อย่าหันหลังให้กัน อย่าขายของตัดหน้ากัน จงเป็นบ่าวของอัลลอฮฺในฐานะเป็นพี่น้องกันเถิด มุสลิมนั้นเป็นพี่น้องของมุสลิม เขาจะไม่อธรรมต่อพี่น้องของเขา เขาจะไม่เหยียดหยามพี่น้องของเขา และเขาจะไม่ทอดทิ้งพี่น้องของเขา”

  (บันทึกโดย มุสลิม)

 “มุสลิมเป็นพี่น้องของมุสลิม เขาจะไม่ทุจริต ไม่โกหก และไม่ทอดทิ้งการให้ความช่วยเหลือแก่พี่น้องของเขา"                                          (บันทึกโดย ติรมิซีย์)

 

 “พวกท่านยังไม่มีศรัทธาที่สมบูรณ์ จนกว่าเขารักที่จะให้ไก้แก่พี่น้องของเขาซึ่งสิ่งที่เขารักจะให้ได้แก่ตนเอง”                           (บันทึกโดย บุคอรีย์ และมุสลิม)

 

สหกรณ์จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ : หลักการสหกรณ์

สำหรับการปรับแนวคิดเข้าสู่การปฏิบัตินั้น ในแง่ของสหกรณ์ทั่วไปแล้วจำเป็นต้องมีวิธีการเฉพาะที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ในทุกสหกรณ์ ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันในวงการสหกรณ์ว่านั่นคือ “หลักการสหกรณ์” อันประกอบด้วย

1)      การเปิดรับสมาชิกทั่วไปและด้วยความสมัครใจ

2)      การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย

3)      การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจโดยสมาชิก

4)       การปกครองตนเองและความเป็นอิสระ

5)       การศึกษา ฝึกอบรม และข่าวสาร

6)       การร่วมมือระหว่างสหกรณ์

7)       ความเอื้ออาทรต่อชุมชน

 

ภายใต้หลักการข้างต้นนี้ส่วนหนึ่งนับเป็นแนวทางที่สหกรณ์ประสงค์ที่จะย้ำให้ชัดเจนถึงความเสมอภาค และเสรีภาพพื้นฐานส่วนบุคคล โดยเป็นการให้อิสระในอันที่จะบุคคลนั้นๆ จักเข้าร่วมหรือลาออกจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์ด้วยความสมัครใจของผู้นั้นเอง  นอกจากนี้ ยังเป็นการขยายแนวคิดครอบคลุมไปถึงการแสดงออกถึงความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและส่วนรวม ตลอดจนการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของผู้ที่จะเป็นสมาชิกเองด้วย ซึ่งในการตัดสินพิจารณาในส่วนบุคคลนี้เองจำเป็นต้องให้ธำรงค์ไว้ อย่างปราศจากการใช้อิทธิพลครอบงำ หรือจูงจมูกกัน ล่อซื้อ ล่อให้ทำ ล่อให้สมัคร หรือแม้แต่การกีดกันกันเองด้วยข้อจำกัดที่ปรุงแต่งขึ้น เช่น ฐานะทางการเงิน ชนชั้นวรรณะ ตำแหน่งเกียรติยศ ฯลฯ ในฐานะเป็นเครื่องกีดกันที่ทำให้มนุษย์แปลกแยกต่อกันและดึงตนเองให้ถอยห่างจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ดังกล่าว ย่อมไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าหากสหกรณ์ใดมุ่งมั่นเช่นนี้ย่อมได้รับการตอบสนองในเชิงสนับสนุนด้วยดีจากอิสลาม  ดังตัวอย่างตามทัศนะอิสลามว่าด้วยความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ซึ่งท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้ว่า

“แท้จริง มนุษย์นั้นเท่าเทียมกันประดุจดังซี่หวี”     (บันทึกโดย อัฎฎอบรอนีย์)

 

 

“แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺ ไม่ได้ทรงมองพวกท่านที่รูปภายนอกของพวกท่าน แต่พระองค์ทรงมองหัวใจของพวกท่าน และการงานของพวกท่าน”

                                                                                       (บันทึกโดย มุสลิม)

ในด้านการควบคุมสหกรณ์นั้น สหกรณ์ให้สิทธิแก่สมาชิกทุกคนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงว่าผู้นั้นถือหุ้นในสหกรณ์มากน้อยแค่ไหน สังกัดกลุ่มหรือไม่ หรือครอบครองปัจจัยอื่นใดที่ผู้นั้นมีให้แก่สหกรณ์ว่ามากน้อยเพียงใด ฉะนั้น ในขณะที่ธุรกิจรูปแบบอื่นอาจยอมยกให้ผู้ที่มีส่วนทุ่มทุนลงในกิจการมาก ได้เป็นผู้มีสิทธิมีเสียงมากกว่าผู้อื่นในธุรกิจนั้น แต่สำหรับในสหกรณ์กลับพร้อมใจกันที่จะถือให้คุณค่าจากความเป็นบุคคล ซึ่งแต่ละคนพึงมีสิทธิมีเสียงเท่ากัน คือ หนึ่งคน หนึ่งเสียง ในการประชุมใหญ่สมาชิกสหกรณ์

นอกจากนี้สหกรณ์ยังให้ความสำคัญต่อสมาชิกผู้เป็นเจ้าของสหกรณ์ในการกำหนดธุรกิจสหกรณ์ที่เป็นของตนเอง  สมาชิกทุกคนจักต้องมีส่วนร่วม รับรู้ และชี้นำกิจการของตนโดยผ่านการประชุมใหญ่สมาชิก  ซึ่งโดยเจตนารมณ์ของการนี้ก็เพื่อให้ได้มีการปรึกษาหารือร่วมกันในกิจการของสหกรณ์เอง บนเงื่อนไขที่ต้องมีการถ่ายเทข้อมูลสารสนเทศต่างๆ ให้รู้เท่าเทียมกันอย่างโปร่งใสและเพียงพอที่จะเข้าสู่กระบวนการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจได้ สามารถกำหนดทิศทางธุรกิจสหกรณ์ของตนด้วยตนเอง และควบคุมดูแลสหกรณ์ด้วยตนเอง โดยให้มีการเลือกผู้เป็นตัวแทนของตนเข้าเป็นคณะกรรมการดำเนินการ เพื่อเข้าไปดำเนินการและควบคุมดูแลสหกรณ์อย่างใกล้ชิดอีกชั้นหนึ่ง

 แน่นอนว่า การปรึกษาหารือร่วมกันนั้น  ในแง่ของอิสลามแล้วการกระทำดังกล่าวถือเป็นหน้าที่ของมุสลิมที่ต้องกระทำในเมื่อต้องทำกิจกรรมหรือประกอบการใดๆ ร่วมกัน ดังปรากฏตอนหนึ่งจากอัลกุรอาน ความว่า

“จงปรึกษาหารือกันในกิจการทั้งหลาย ครั้นเมื่อเจ้าได้ตัดสินใจแล้ว ก็จงมอบหมายต่ออัลลอฮฺเถิด”                                                      (อาละอิมรอน 3: 159)

 

การหารือกันอย่างเข้าใจนี้เอง ย่อมเอื้อให้ผู้คนสามารถประกอบกิจกรรมร่วมกันได้อย่างราบรื่น ส่วนการเลือกรูปแบบใดในการตัดสินใจนั้น อิสลามยังคงเปิดกว้างให้ และให้โอกาสยืดหยุ่นในการที่จะเลือกใช้เกณฑ์ใด ๆ มาตัดสิน  โดยให้คงอยู่บนครรลองที่มิใช่พวกมากลากไปทั้งที่เป็นสิ่งที่มิชอบหรือขัดแย้งต่อบทบัญญัติ ทั้งนี้เพราะอิสลามตระหนักดีว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้น มีไม่น้อยที่ปฏิบัติตามผู้คนส่วนใหญ่ ทั้งๆที่ไม่รู้จริง ดังที่ปรากฏในอัลกุรอาน ความว่า

“พระดำรัสแห่งพระเจ้าของเจ้านั้นครบถ้วนแล้วซึ่งความสัจจะและความยุติธรรม ไม่มีผู้ใดเปลี่ยนแปลงบรรดาพระดำรัสของพระองค์ได้ และพระองค์นั้น คือ ผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้ และหากเจ้าเชื่อส่วนมากของผู้คนในแผ่นดินแล้ว พวกเขาก็จะทำให้เจ้าหลงไปจากทางของอัลลอฮฺ พวกเขาจะไม่ปฏิบัติตามนอกจากการนึกคิดเดาเอาเอง และพวกเขามิได้ตั้งอยู่บนสิ่งใด นอกจากพวกเขาจะคาดคะเนเอาเท่านั้น”                                                 (อัลอันอาม 6:115-116)

 

ดังนั้น    ในเมื่อสหกรณ์เลือกรูปแบบการตัดสินใจโดยยึดเสียงข้างมากแนวประชาธิปไตย แน่นอนว่าย่อมจักกระทำได้ในทุกกรณีที่มิใช่การฝ่าฝืนต่อคำสั่งใช้ คำสั่งห้ามของอิสลาม  และหากเป็นการฝ่าฝืนไปทั้งที่เป็นเสียงข้างมากก็ย่อมเป็นการนำสหกรณ์นั้นออกนอกแนวทางอิสลาม  และเป็นการดึงสหกรณ์เองออกจากแนวทางสหกรณ์อีกด้วย เพราะหลักการข้อนี้เองก็ยังปิดประตูสำหรับการใช้เสียงข้างมากเพื่อการนำพาให้มนุษย์ตกต่ำในเชิงจริยธรรม

ด้วยเหตุนี้ ในสหกรณ์เองจึงไม่น่าจะมีการตัดสินใจด้วยเสียงข้างมากเพื่อขยายธุรกิจของตนไปในทางที่ผิด ๆ เช่นค้าอบายมุข ส่งเสริมการพนัน  

...ในสหกรณ์เองจึงไม่ใช่แหล่งสมคบคิดกันใช้มติข้างมากเพื่อขับไล่บุคลากร หรือพนักงานของสหกรณ์อย่างอยุติธรรม

...และในสหกรณ์เองย่อมไม่ดึงเอาเสียงข้างมากมาเพื่อขยายธุรกิจ หรือเพิ่มสายผลิตภัณฑ์ที่สร้างกำไรแก่บางคณะบุคคลได้อย่างแนบเนียนในระยะสั้น แต่เป็นการทำร้ายสังคมและทำลายสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

 ส่วนกรณีประเด็นด้านของเงินทุนสำหรับสหกรณ์นั้น เป็นธรรมดาอยู่เองที่ผู้เป็นเจ้าของกิจการพึงเป็นผู้ให้การสนับสนุนเงินทุน หรือ เป็นผู้ลงทุนเอง ซึ่งสำหรับสหกรณ์ก็เช่นกัน สมาชิกทุกคนมีหน้าที่ต้องร่วมสนับสนุนเงินทุนให้แก่ ซึ่งอาจเป็นในรูปของการจ่ายชำระค่าสมัคร ค่าหุ้นเมื่อแรกเข้า การซื้อหุ้นเพิ่มตามความสมัครใจของสมาชิกผู้เป็นเจ้าของ การถือหุ้นตามส่วนของประโยชน์ที่ตนได้รับ ซึ่งหุ้นเหล่านี้สำหรับสหกรณ์แล้วปฏิเสธที่จะกำหนดราคาให้มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆ อย่างที่บรรดานักเล่นหุ้นทั่วไปชื่นชอบ

ดังนั้น แม้สหกรณ์จะตระหนักดีถึงความสำคัญของเงินทุนในฐานะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินงานสหกรณ์เอง เป็นปัจจัยหนึ่งในการขับเคลื่อนสหกรณ์ให้สามารถบริการรับใช้สมาชิก แต่ด้วยแนวคิดและด้วยเจตนาที่จะกันบทบาทของ “เงิน” ให้คงไว้ในฐานะเป็น “ผู้รับใช้สหกรณ์” มิใช่เป็น “นายเหนือสหกรณ์” จึงมิได้มุ่งมั่นให้สมาชิกมาลงทุนหรือถือหุ้นเพื่อหวังผลทางการเงินจากสหกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการแสวงหาผลตอบแทนที่เป็นดอกเบี้ยจากเงินทุน การเก็งกำไรจากราคาหุ้น หรือแม้แต่การมุ่งมั่นที่จะได้ของแถมอันมากมายบนเส้นทางกลยุทธ์ส่งเสริมการขายเพื่อเร่งระดมหุ้น 

ตามหลักการสหกรณ์ แม้จะเปิดช่องให้มีการจ่ายดอกเบี้ยสำหรับเงินทุนจำนวนนี้ แต่ก็ถือเป็นการเหมาะสมกว่าหากจะงดจ่ายดอกเบี้ยเงินทุน แม้จะอยู่ในรูปเงินปันผลต่อหุ้น หรือ ดอกเบี้ยต่อหุ้นก็ตาม ซึ่งในทางปฏิบัติมีทั้งที่งดจ่ายดอกเบี้ย มีทั้งที่ยอมให้ในอัตราคงที่ และที่ยอมให้แต่ในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราในตลาด

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่อิสลามคัดค้านต่อระบบดอกเบี้ยอย่างชัดเจนและลึกซึ้งต่อการขจัดการกดขี่ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบ และทดแทนด้วยความเข้าอกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจระหว่างกัน ดังปรากฏเป็นคำสั่งที่ขัดเจนตอนหนึ่งในอัลกุรอาน ความว่า

“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด และจงละเว้นดอกเบี้ยที่ยังเหลืออยู่เสีย หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา และถ้าพวกเจ้ามิได้ปฏิบัติตามก็พึงรับรู้ไว้ด้วยเถิด ซึ่งสงครามจากอัลลอฮฺ และร่อซูลของพระองค์ และหากพวกเจ้าสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวแล้ว สำหรับพวกเจ้าคือ (การรับเอาเฉพาะ) ต้นทุนแห่งทรัพย์ของพวกเจ้า โดยที่พวกเจ้าจะได้ไม่เป็นผู้อธรรมกดขี่และไม่ถูกอธรรมแต่ประการใด”                                                                                  (อัลบะกอเราะฮฺ 2:278-279)

 

ดังนั้น หากจะมีการแอบอ้างเพื่อให้สหกรณ์ในอิสลามต้องมีการรับ-จ่ายดอกเบี้ย หรือผลประโยชน์อื่นใดที่เข้าในลักษณะเดียวกันนี้ต่อเงินทุนของสมาชิก ด้วยเกรงว่าจะไม่ตรงตามหลักการสหกรณ์ จนถึงกับยอมหันหลังต่อบทบัญญัติห้ามที่ชัดเจนอยู่แล้ว ก็นับว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างยิ่งต่อหลักการสหกรณ์เอง และยังเป็นการดึงอิสลามสู่การบิดเบือนโดยเจตนา

ส่วนในแง่ที่สหกรณ์ดำเนินธุรกิจมีกำไร แนวทางการจัดสรรกำไรส่วนนี้สามารถแบ่งออกได้เป็นสามแนวทาง คือ การกันเงินจำนวนนี้เข้าเป็นทุนสะสมเพื่อการพัฒนาสหกรณ์ ขบวนการสหกรณ์ การจัดสรรเพื่อเรื่องอื่นใดที่มวลสมาชิกเห็นชอบซึ่งควรเป็นเรื่องของส่วนรวม นอกจากนี้อาจกันเป็นเงินปันผลแก่หุ้นและตามส่วนธุรกิจ โดยสมาชิกแต่ละคนควรได้รับการจัดสรรอย่างเที่ยงธรรมตามส่วนที่สมาชิกเข้ามาทำกิจกรรมกับสหกรณ์ เช่น ใครซื้อของจากสหกรณ์มาก ก็ควรได้รับเงินปันผลมากกว่าผู้ที่ซื้อของจากสหกรณ์น้อยกว่า เป็นต้น

สำหรับในหลักการสหกรณ์ประการอื่นๆ นั้น นับเป็นความพยายามปกป้องสหกรณ์เองให้พ้นจากการคุกคามหรือครอบงำจากบุคคลภายนอกสหกรณ์ที่ขาดความจริงใจต่อสหกรณ์ แต่โดยเนื้อแท้แล้วกลับเป็นเพียงการหวังผลประโยชน์จากสหกรณ์ ซึ่งอาจแฝงเข้ามาในรูปของการให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือ สนับสนุนส่งเสริม ไม่ว่าจากในภาครัฐหรือภาคเอกชน หรือหากแม้นมีความจริงใจอยู่บ้างแต่หากขาดความเข้าใจแนวคิดและหลักการสหกรณ์อย่างแท้จริงแล้ว ก็มีโอกาสเหนี่ยวนำให้สหกรณ์คลาดเคลื่อนไปได้ ดังนั้น สหกรณ์จึงจำเป็นต้องรักษาตนเองอย่างรู้เท่าทัน เพื่อคงไว้ซึ่งเสรีภาพในการควบคุมตนเองและปกครองตนเองในทิศทางที่ตรงต่อเจตนารมณ์ของสหกรณ์

การหยิบยกขึ้นมาอ้างกันในสหกรณ์ว่าจำเป็นต้องทำตามเงื่อนไขของเจ้าหนี้ก็ดี หรือของรัฐเองก็ดี หรือแม้แต่กฎหมายสหกรณ์บางฉบับก็ดี ที่กลายเป็นเครื่องพันธนาการจินตนาการและศักยภาพของสหกรณ์ในอันที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อมวลสมาชิก ย่อมเป็นกรอบที่ไม่เป็นการสร้างสรรค์ให้สหกรณ์คงความเป็นสหกรณ์ที่แท้จริงได้

นอกจากนี้ สำหรับในทุกสหกรณ์จำเป็นต้องมีการพัฒนาปลุกจิตสำนึกและพัฒนาคุณภาพบุคคล ด้วยการให้การศึกษาและข้อมูลที่โปร่งใสเพื่อการใช้วิจารณญาณได้อย่างรอบคอบ ต้องมีการเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่สหกรณ์เองบนพื้นฐานของรวมกันเราอยู่ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการให้การสนับสนุนและไม่มองข้ามเพื่อนสหกรณ์ด้วยกัน และสุดท้ายคิอ การถือเป็นความรับผิดชอบที่ทุกสหกรณืมิอาจหลีกเลี่ยงได้ต่อการการพัฒนาอย่างรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม

ดังกล่าวข้างต้นนี้ ย่อมเป็นที่ยอมรับได้ว่า หากจะดึงสหกรณ์เข้าหาอิสลาม ย่อมพบว่าอิสลามมีทางที่เปิดกว้างและเอื้ออำนวยอย่างมากต่อวิถีสหกรณ์เอง

 

ธุรกิจสหกรณ์

ในด้านการประกอบธุรกิจนั้น  แม้สหกรณ์จะสามารถประกอบการใดๆ ที่สนองตอบต่อความต้องการของสมาชิก  แต่ก็มีขอบเขตที่จำกัดไว้แต่เพียงว่า  กิจการนั้นๆ ต้องเข้าอยู่ในหนทางของการยกระดับมนุษยชาติให้ต่างจากวัตถุและเดรัจฉานและไม่เป็นการดึงมนุษย์ให้ตกต่ำ 

ฉะนั้น แม้สังคมทุกวันนี้จะระบาดไปด้วยธุรกิจยาบ้า การพนันเสี่ยงโชค การค้าแรงงานเด็ก ตลอดจนการล่วงละเมิดทางเพศ  และแม้แต่การเข่นฆ่าเอาชีวิตมนุษย์ด้วยกันเยี่ยงผักปลา  มีการกระจายออกเป็นเครือข่ายธุรกิจที่กว้างขวางและมีเงินสะพัดมากมาย  แต่กรอบข้างต้น  เป็นเสมือนวงล้อมที่ปกป้องสังคมมนุษย์ และปิดกั้นสหกรณ์เองมิให้เข้าไปสนใจหรือข้องเกี่ยวกับกิจการเหล่านั้นหรือทำนองนั้นได้เลย  ซึ่งพ้นจากวงล้อมนี้ก็คือบรรดาโอกาสอันมากมายที่สหกรณ์จะจัดธุรกิจใดๆ ที่อยู่ในความต้องการของมวลสมาชิก   เช่น

-การจัดเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งช่วยส่งเสริมให้เกิดการออมในหมู่สมาชิก  ช่วยดูแลทรัพย์สินทางการเงิน และเป็นแหล่งเงินทุนให้แก่สมาชิกในการสำหรับการกู้ยืมเมื่อจำเป็น 

-การจัดธุรกิจดูแลสุขภาพด้วยสหกรณ์สุขภาพ หรือสหกรณ์โรงพยาบาล 

-การจัดสหกรณ์ที่คงรักษางานไว้ให้สมาชิกผู้เป็นเจ้าของสหกรณ์ในรูปของสหกรณ์แรงงานหรือสหกรณ์คนงาน โดยสมาชิกผู้เป็นแรงงานไม่จำต้องพะวงว่าจะถูกลอยแพ

-การจัดสหกรณ์การผลิตที่สมาชิกเป็นผู้ลงมือลงแรง สร้างสรรค์สิ่งผลิตต่างๆ ออกจำหน่าย

-การรวบรวมผลผลิตของสมาชิกโดยรวมกันขาย เพื่อป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบ

 -การจัดหาสินค้าทั้งอุปโภคและบริโภคมาจำหน่ายให้แก่สมาชิกในรูปสหกรณ์ร้านค้า 

-การจัดธุรกิจให้บริการข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจแก่สมาชิกผู้ประกอบกิจการต่าง ๆ

-การจัดธุรกิจพลังงานสะอาดเพื่อบริการแก่สมาชิกในชุมชน

-การจัดบริการการศึกษาแก่เยาวชนในรูปแบบและสาระที่บรรดาผู้ปกครองที่เป็นสมาชิกสามารถวางใจได้

ฯลฯ

กิจการอันสามารถแตกออกไปได้มากมายนี้  ในทัศนะอิสลามเองย่อมเอื้อและสนับสนุนต่อการประกอบการนั้นทั้งสิ้น ตราบเท่าที่ไม่ได้เบี่ยงเบียนไปจากการ “ประกอบการดี” ตามทัศนะอิสลาม ดังปรากฏหลักฐานยืนยันไว้ ความว่า

“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงอย่าได้ให้เป็นที่ต้องห้ามซึ่งบรรดาสิ่งดีๆ ในสิ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงอนุมัติแก่พวกเจ้า และพวกเจ้าจงอย่าละเมิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นไม่ทรงชอบบรรดาผู้ละเมิด”                                             (อัลมาอิดะฮฺ 5:87)

 

“และจงให้มีขึ้นในหมู่พวกเข้า ซึ่งคณะที่จะเชิญชวนไปสู่ความดี และใช้กันให้กระทำสิ่งที่ดีงาม และห้ามปรามกันมิให้กระทำสิ่งที่ไม่ดีงาม และชนเหล่านี้ คือ ผู้ที่ได้รับควมสำเร็จ”                                                                      (อาละอิมรอน 3:104)

 

การกระทำโดยนัยยะนี้ย่อมครอบคลุมไปในเรื่องต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องที่ใช้ให้กระทำ และเรื่องที่ห้ามมิให้กระทำ อันเป็นการฮะรอมหรือต้องห้าม

ฉะนั้น สำหรับสหกรณ์ในอิสลามแล้วย่อมไม่มีการประกอบธุรกิจการค้าหรือจัดส่งเครื่องมึนเมาทุกชนิด ไม่มีการร่วมกันรวมกลุ่มการผลิตวัสดุหรืออาหารเพื่อเทศกาลที่มีฐานจากการตั้งภาคี ไม่มีการจัดหาหรือจำหน่ายสิ่งอันนำพาสู่การไร้สาระ ไม่มีกิจกรรมที่พากันระเริงจนลืมรากเหง้าแห่งตนในฐานะบ่าวผู้ยอมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า เป็นต้น

 

การจัดตั้งสหกรณ์

            บทเรียนจากการนำอิสลามสู่ประชาชาติซึ่งเริ่มจากพลังศรัทธาเป็นเบิ้องต้นแล้วตามติดด้วยการปฏิบัติในแง่มุมต่างๆ ของวิถีชีวิตนั้น ได้เคยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ประชาชาติอิสลามในยุคแรกมาแล้วอย่างไร การให้สหกรณ์สามารถดำเนินการเพื่อมวลสมาชิกได้อย่างมั่นคงก็จำเป็นต้องสร้างพลังในเชิงแนวคิดที่ถูกต้อง มั่นคง ให้แก่สมาชิกเป็นเบื้องต้นด้วยฉันนั้น เพราะเหล่าบรรดาสมาชิกนี้เองนับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญต่อแต่ละสหกรณ์ ความร่วมมือร่วมใจอย่างเหนียวแน่นด้วยความบริสุทธิ์ใจที่จะดำเนินธุรกิจจึงนับเป็นพลังขับเคลื่อนอันสำคัญต่อทุกสหกรณ์เอง

ในทางกลับกัน หากสมาชิกขาดแนวคิดที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์และค่านิยมที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น สิ่งที่หลงเหลืออยู่กับสหกรณ์นั้นๆ อาจมีเพียงชื่อหรือรูปแบบสหกรณ์แต่เพียงเปลือกนอก โดยปราศจากจิตวิญญาณหรือแนวคิดสหกรณ์จากส่วนลึกภายในก็เป็นได้ ดังปรากฎการณ์ที่มักเห็นกันดาษดื่น เป็นต้นว่า

...การให้ความสนใจต่อสหกรณ์เพียงเพื่อหวังเงินปันผลเป็นสำคัญ

...การปล่อยให้คณะกรรมการดำเนินการมีอิสระในการจัดการมากเสียจนละเลยบทบาทของสมาชิกเองในการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและจริงจังต่อการจัดการสหกรณ์

...การแฝงตัวภายใต้ร่มเงาสหกรณ์พียงเพื่อแสดงความฉลาดในการหลบเลี่ยงหน้าที่ในการชำระภาษี

...การยึดเอาสหกรณ์เป็นช่องทางแบมือรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ

...การขยายฐานสินทรัพย์ที่กว้างใหญ่ด้วยการยืมจมูกผู้อื่นมาหายใจแทนที่จะยืนหยัดบนขาตนเองได้อย่างมั่นคง

ปรากฎการณ์ดังกล่าวเหล่านี้ล้วนห่างไกลจากแนวคิดที่แท้จริงของการสหกรณ์ ซึ่งนับวันยิ่งระบาดแผ่ขยายออกไปในวงกว้างขึ้นทุกที โดยการเบี่ยงเบนเชิงแนวคิดที่เกิดขึ้นนั้นมีทั้งที่เป็นไปอย่างจงใจ และไม่จงใจ มีขึ้นทั้งที่รู้อยู่แก่ใจ และรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ด้วยเหตุนี้ การอัดฉีดพลังทางแนวคิดที่ถูกต้องทั้งในมิติของสหกรณ์ และมิติของอิสลามเอง ย่อมจำเป็นอย่างยิ่งต่อการจัดตั้งสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์ดังกล่าวได้แสดงบทบาทของการเป็นสหกรณ์ที่แท้จริง พร้อมกันกับการเป็นสหกรณ์ที่สะท้อนออกซึ่งเอกลัษณ์แห่งอิสลามตามแบบฉบับที่เที่ยงตรง ดังนั้น ปัจจัยด้านแนวคิดนี้นับว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการจัดตั้งสหกรณ์ และการดำเนินการต่างๆ ของสหกรณ์  ซึ่งแน่นอนว่าภารกิจด้านแนวคิดดังกล่าวหาใช่จะทำให้แล้วเสร็จได้ง่ายดายภายในข้ามคืน หากแต่ต้องอาศัยความอดทนและความพากเพียรที่จะหล่อหลอมความคิดของผู้คนให้อยู่บนเส้นทางที่ร่วมมือกันได้

นอกจากนี้ การวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมเป็นไปได้ในการดำเนินการสหกรณ์เอง นับเป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่ต้องกระทำกันอย่างรอบด้านและรอบคอบในการพิจารณาใคร่ครวญเชิงธุรกิจ เพื่อมิให้สหกรณ์ซึ่งเป็นธุรกิจของมวลสมาชิกดำเนินไปเสมือนการหลับตาวิ่ง และเพื่อพยายามปกป้องมิให้สหกรณ์อยู่ในภาวะล่อแหลมหรือตกหลุมของการขาดทุนอย่างขาดภูมิคุ้มกัน  ซึ่งทั้งหมดนี้จำเป็นที่ต้องมีการทุ่มเทเอาใจใส่จริงจัง ส่วนผลสุดท้ายจะเป็นเช่นไรนั้น เพียงพระองค์อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เท่านั้น ที่บรรดามุอฺมินมอบหมาย

อนึ่ง การรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์ในบางประเทศกำหนดไว้ให้เฉพาะที่จดทะเบียนต่อนายทะเบียนสหกรณ์เท่านั้น จึงสามารถใช้ชื่อ “สหกรณ์” ได้ แต่ก็ใช่ว่าบรรดากลุ่มต่างๆ ที่รวมตัวกันแบบสหกรณ์โดยไม่ได้ใช้ชื่อสหกรร์อย่างถูกต้องตามกฎหมายจะขาดคุณสมบัติความเป็นสหกรณ์ในตนเองก็หาไม่ ในประเด็นนี้จึงควรอยู่ในการไตร่ตรองของมวลสมาชิกเป็นสำคัญ ว่าเห็นควรจะดึงสหกรณ์ของตนเข้าอยู่ภายใต้กฎหมายนั้นๆ หรือไม่ ซึ่งสำหรับสหกรณ์ในอิสลามก็เช่นกัน การที่จะยอมอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ใดๆ ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน ว่าจะยังคงให้สามารถยืนหยัดตามแนวทางอิสลามที่เที่ยงตรง และคงความเป็นสหกรณ์ที่แท้จริงได้หรือไม่

 

แนวปฏิบัติสำคัญสำหรับสหกรณ์ในอิสลาม

            หากเมื่อสหกรณ์มีความพร้อมในการให้บริการแก่สมาชิกด้านใดๆ ก็ย่อมกระทำการได้ บนพื้นฐานของการจัดการสหกรณ์ที่อาศัยการทำงานเป็นทีมระหว่างบุคคลสามฝ่ายในสหกรณ์ คือ สมาชิก คณะกรรมการดำเนินการ และฝ่ายจัดการ ซึ่งนอกจากอาศัยการทุ่มเทความรู้ ความสามารถ ที่รักษาไว้ซึ่งค่านิยมสหกรณ์แล้ว การจัดการอย่างมีประสิทธิภาพก็เป็นสิ่งที่ต้องให้สามารถสะท้อนออกมาได้จากทุกกิจกรรมในสหกรณ์ แต่เหนือสิ่งอื่นใดสำหรับทุกสหกรณ์ในอิสลามยังจำเป็นต้องรักษาแนวปฏิบัติที่สำคัญในการประกอบธุรกิจบนพื้นฐานอิสลาม ซึ่งจะกล่าวไว้ในที่นี้พอสังเขป ดังต่อไปนี้

           

ประการแรก การดำเนินธุรกิจอิสลามต้องผูกพันกับบทบัญญัติอิสลามในส่วนที่เป็นธุรกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ การขาย การรับฝาก ฯลฯ ตัวอย่างเช่น

การซื้อ

-สหกรณ์ในอิสลามย่อมต้องไม่ทำการซื้อตัดหน้ากัน ดังปรากฎจากหลักฐานคำสอนของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

“จงอย่าได้ซื้อขายตัดหน้ากันและกัน”               (บันทึกโดย บุคอรีย์ และมุสลิม)

 

-สหกรณ์ในอิสลามย่อมต้องไม่ทำการซื้อขายล่วงหน้าทั้งที่ยังไม่ชัดแจ้งในเชิงคุณภาพและปริมาณของสินค้านั้นๆ ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

“จงอย่าซื้อปลาในน้ำ (โดยไม่รู้ขนาดและปริมาณของปลา) เพราะแท้จริงนั้ยเป็นการหลอกลวง”                                                     (บันทึกโดย อิมามอะฮฺมัด)

 

นอกจากนี้ ปรากฏจากรายงานหนึ่งของท่านอิบนิอุมัร ว่า

“ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้สั่งห้ามซื้อขายอินทผลัมจนกว่าจะสุก หรือขนแกพที่ปรากฏอยู่บนตัวแกะ หรือน้ำนมที่อยู่ในเต้า หรือเนยที่เป็นน้ำนม”                                                      (บันทึกโดย อัลบัยฮะกีย์ และอัดดารุกุดนีย์)

 

การขาย

            -สหกรณ์ในอิสลามย่อมต้องซื่อสัตย์ต่อการชั่ง ตวง วัด  ในสินค้าที่ขาย ดังปรากฎบทบัญญัติในอัลกุรอาน ความว่า

“และโอ้กลุ่มชนของฉันเอ๋ย พวกท่านจงให้ตลบสมบูรณ์ซึ่งการตวงและการชั่งโดยเที่ยงธรรม และอย่าให้บกพร่องแก่มนุษย์ ซึ่งสิ่งต่างๆ ของพวกเขา และอย่าก่อกวนในแผ่นดินโดยเป็นผู้บ่อนทำลาย”                                       (ฮู๊ด 11:86)

 

“จงตวงให้ครบเต็ม และอย่าเป็นผู้ที่ขาดพร่อง และชั่งด้วยตาชั่งที่เที่ยงตรง”                                                          (อัชชุอะร็ออฺ 26:181-182)

 

-สหกรณ์ในอิสลามต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ความซื่อสัตย์ ให้ปรากฏในสินค้าหรือบริการนั้นๆ โดยไม่ปิดบังความบกพร่องหรือตำหนิของสินค้าที่ขาย คังคำสั่งท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ความว่า

“มุสลิมกับมุสลิมไม่เป็นที่อนุมัติที่จะขายสินค้าให้แก่พี่น้องของเขาซึ่งสินค้าที่มีตำหนิ โดยเขาไม่แจ้งให้ทราบ”

       (บันทึกโดย อะฮมัด อิบนุมายะฮฺ อัลฮากิม และฏ็อบรอนีย์)

 

-สหกรณ์ในอิสลามย่อมไม่กักตุนสินค้า ดังที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้ว่า

“ใครกักตุน เขาผู้นั้นกระทำผิด”       (บันทึกโดย อบูดาวู๊ด ติรมิซีย์ และมุสลิม)

“ไม่มีผู้ใดกักตุนนอกจากผู้กระทำผิดอุกฉกรรจ์”              (บันทึกโดย มุสลิม)

 

-สหกรณ์ในอิสลามย่อมไม่ปั่นหรือโก่งราคาสินค้า ดังที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

“ผู้ใดนำสิ่งใดเข้ามามีผลต่อราคาสินค้าของเพื่อนมุสลิม เพื่อจะให้มุสลิมซื้อสินค้านั้นด้วยราคาที่แพง ในวันปรโลกนั้นเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ ตะบาร่อกะวะตะอาลา จะให้เขานั่งบนไฟนรกกองมหึมา”               (บันทึกโดย อะฮมัด และฏ็อบรอนีย์)

 

-สหกรณ์ในอิสลามย่อมต้องไม่ค้าขายในสิ่งที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของตน ดังที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้ว่า

“จงอย่าขายในสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่ที่ตัวเจ้า”                          (บันทึกโดยอัซฮาบุสสุนัน)

 

-สหกรณ์ในอิสลามย่อมไม่ขายสิ่งที่ต้องห้าม หรือสนับสนุนการขายสิ่งต้องห้าม ดังคำสั่งตอนหนึ่งของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

“ผู้ใดที่ประวิงการเก็บองุ่นเพื่อรอจะขายแก่พวกที่ทำเหล้าองุ่นหรือขายองุ่นเพื่อใช้ทำเหล้า เท่ากับว่าเขาโยนตนเองสู่ไฟนรกอย่างชัดแจ้ง”

          (บันทึกโดย ฏ็อบรอนีย์ และอัลบัยฮะกีย์)

ประการที่สอง การสร้างข้อผูกพันที่เป็นสัญญาระหว่างบุคคลฝ่ายต่างๆ จำเป็นต้องมีการบันทึกเป็นหลักฐาน เช่น การกู้ยืม การรับฝาก การเช่าซื้อ ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่มีจำนวนมากหรือน้อยก็ตาม โดยต้องบันทึกตามความเป็นจริงอย่างไม่บกพร่อง ไม่โกหก และไม่บิดเบือนอำพราง อีกทั้งจำเป็นที่คู่สัญญาต้องรักษาสัญญาอย่างครบถ้วน ดังระบุในอัลกุรอานว่า

“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อพวกเจ้าต่างมีหนี้สินกัน จะด้วยหนี้สินใดๆ ก็ตาม จนกว่าจะถึงกำหนดเวลา (ใช้หนี้) ที่ถูกระบุไว้แล้ว ก็จงบันทึกหนี้สินนั้นเสีย และผู้เขียนก็จงบันทึกระหว่างพวกเจ้าด้วยความเที่ยงธรรม ดังนั้น เขาจงบันทึก และจงให้ผู้มีสิทธิเหนือเขา (ลูกหนี้) บอกให้บันทึก และเขาจงยำเกรงอัลลอฮฺผู้เป็นพระเจ้าของเขา และจงอย่าให้บกพร่องแต่อย่างใดจากสิทธินั้น”

         (อัลบะกอเราะฮฺ 2:282)

“และพวกเจ้าจงอย่าปะปนสิ่งจริงด้วยสิ่งเท็จ และจงอย่าปกปิดสิ่งที่เป็นจริงทั้งๆ ที่พวกเจ้ารู้กันอยู่”                                                       (อัลบะกอเราะฮฺ 2:42)

 

“ฉันจะบอกพวกท่านให้เอาไหมว่า พวกมารชัยฏอนลงมาบนผู้ใด พวกมันลงมาบนทุกคนที่เป็นผู้โกหก ผู้ทำบาปมาก”                           (อัชชุอะรออฺ 26:221-222)

 

“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงปฏิบัติตามสัญญาให้ครบถ้วน”

     (อัลมาอิดะฮฺ 5:1)

ด้วยเหตุนี้สหกรณ์ในอิสลามย่อมไม่เพิกเฉยที่จะบันทึกสัญญา แม้ในเรื่องเล็กน้อย และสหกรณ์ในอิสลามย่อมกำหนดสัญญาตามความเป็นจริงที่สอดคล้องกับเหตุผลความต้องการของสมาชิก ที่ตรงตามความเข้าใจของสมาชิก มิใช่บิดเบือนความต้องการของสมาชิกให้เข้ามาอยู่ในกรอบของเงื่อนสัญญานั้นๆ ทั้งที่ไม่ตรงตามเจตนาของสมาชิกเลย

 

ประการที่สาม การให้ความสำคัญต่อพยานในฐานะผู้ร่วมรับรู้ในเหตุการณ์หรือสัญญาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ด้วยจำนวนพยานที่เป็นชายอย่างน้อย ๒ คน หรือ ชาย ๑ หญิง ๒ หรือหญิง ๔ คน ดังตอนหนึ่งจากอัลกุรอาน ความว่า

“และพวกเจ้าจงให้มีพยานขึ้นสองนายจากบรรดาผู้ชายในหมู่พวกเจ้า แต่ถ้ามิปรากฎพยานทั้งสองที่เป็นชาย ก็ให้มีผู้ชายคนหนึ่งกับผู้หญิงสองคน จากที่พวกเจ้าพึงใจในหมู่พยานทั้งหลาย เพื่อว่าหญิงใดในสองคนนั้นหลงไป คนหนึ่งในสองคนนั้นก็จะได้เตือนอีกคนหนึ่ง และบรรดาพยานนั้นก็จงอย่าได้ปฏิเสธเมื่อพวกเขาถูกเรียกร้อง”                                                            (อัลบะกอเราะฮฺ 2:282)

 

ดังนั้น ระเบียบข้อบังคับของสหกรณ์ในอิสลามจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับพยานตามหลักเกณฑ์ที่อิสลามกำหนด มิใช่การยอมโอนอ่อนอิงตามหลักเกณฑ์อื่นที่มิได้ยึดเอาอิสลามเป็นที่ตั้ง

 

ประการที่สี่ ธุรกิจของสหกรณ์อิสลามไม่เพียงต้องห่างไกลจากดอกเบี้ยเท่านั้น ยังจำเป็นต้องปลอดจากการค้าขายสิ่งสกปรก (นะญิส) อีกทั้งต้องไม่ปะปนกับการเสี่ยงทายหรือการพนันทุกรูปแบบ  ไม่ว่าจะเป็นการจับฉลากชิงรางวัล ชิงโชค หรืออื่นๆ ดังที่ระบุไว้ในอัลกุรอาน และอัลฮะดีส ที่ว่า

“พวกเขาจะถามเจ้าเกี่ยวกับสิ่งมึนเมาและการพนัน จงกล่าวเถิดว่า ในทั้งสองนั้นมีโทษมากและมีคุณหลายอย่างแก่มนุษย์ แต่โทษของมันทั้งสองนั้นมากกว่าคุณของมัน”                                                             (อัลบะกอเราะฮฺ 2:219)

 

“แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺทรงห้ามขายสิ่งเสพติดมึนเมา และซากสัตว์ และสุกร และเจว็ดทั้งหลาย”                                           (บันทึกโดย บุคอรีย์ และมุสลิม)

 

“การที่พวกเจ้าเสี่ยงทายด้วยไม้ติ้ว เหล่านั้นเป็นการละเมิด”

     (อัลมาอิดะฮฺ 5:3)

ประการที่ห้า ธุรกิจสหกรณ์ต้องไม่สร้างสมนิสัยความฟุ่มเฟือยแก่สมาชิก ดังปรากฏในอัลกุรอาน ความว่า

“และจงอย่าฟุ่มเฟือย แท้จริงพระองค์ไม่ทรงชอบผู้ฟุ่มเฟือยทั้งหลาย”

  (อัลอะอฺรอฟ 7:31)

ฉะนั้น การเร่งปลุกเร้าความต้องการของสมาชิกให้บริโภคสิ่งต่างๆ เกินความจำเป็น และผลักให้สมาชิกอยู่ในฐานะเหยื่อบริโภคนิยม ย่อมไม่ควรเกิดขึ้นในสหกรณ์ที่รู้เท่าทันถึงเงามืดของทุนนิยมเสรี

 

ประการที่หก ธุรกิจของสหกรณ์ในอิสลามต้องไม่มีการทุจริต ไม่รับหรือติดสินบน ดังปรากฏในกุรอาน ความว่า

“จงอย่ากินทรัพย์สมบัติของพวกเจ้าในระหว่างพวกเจ้าโดยมิชอบ และจงอย่าจ่ายมัน (ติดสินบน) ให้แก่ผู้พิพากษา เพื่อที่พวกเจ้าจะกินส่วนหนึ่งจากทรัพย์สมบัติของผู้อื่น ด้วยการกระทำสิ่งที่เป็นบาปทั้งๆ ที่พวกเจ้ารู้กันอยู่”

         (อัลบะกอเราะฮฺ 2:188)

“เขาเหล่านั้นต่างหลอกลวงอัลลอฮฺและบรรดาผู้ศรัทธา และพวกเขาหาได้หลอกลวงใครได้ไม่ นอกจากตัวของพวกเขาเองเท่านั้น แต่พวกเขาไม่รู้สึก”

(อัลบะกอเราะฮฺ 2:9)

นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานอีกว่าแม้การออกไปรับสิ่งใดๆ อันเนื่องจากการทำหน้าที่ส่วนรวมก็ยังเป็นการทุจริต ดังเช่น ครั้งหนึ่ง ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้มอบหมายชายผู้หนึ่งทำหน้าที่รวบรวมซะกาต ซึ่งเมื่อเขากลับมาแล้วกล่าวว่า “นี่สำหรับท่าน และนี่สำหรับฉันได้รับเป็นของขวัญ” ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงกล่าวกับเขา มีความว่า

“ทำไมท่านไม่ไปนั่งที่บ้านบิดามารดาของท่านเพื่อรอรับของขวัญเล่า ถ้าหากท่านพูดจริง (แต่เพราะการที่เขามีหน้าที่นั้นต่างหาก เขาจึงได้รับของขวัญ) ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านอย่าได้เอาสิ่งหนึ่งสิ่งใดแม้แต่เพียงเล็กน้อยในสิ่งที่ไม่ใช่สิทธิของเขา แน่นอนเหลือเกินว่าในวันปรโลก เขาจะพบกับอัลลอฮฺในสภาพที่แบกสิ่งนั้นไว้”                   (บันทึกโดย บุคอรีย์ และมุสลิม)

 

ประการที่เจ็ด ธุรกิจของสหกรณ์ในอิสลามต้องรับผิดชอบต่อการจ่ายซะกาต ตามเงื่อนไขแห่งศาสนบัญญัติ ในเมื่อทรัพย์สินถึงเกณฑ์ที่ต้องจ่ายซะกาตยังไม่ได้รับการจัดสรรสู่สมาชิก ดังนั้น ในกรณีที่สหกรณ์มีสินค้าคงค้างจนครบรอบปีก็ดี หรือสหกรณ์มีผลิตผล หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ถึงเกณฑ์ต้องจ่ายซะกาต ผู้รับผิดชอบดูแลกิจการสหกรณ์จำเป็นต้องมีความซื่อตรงต่อหน้าที่นี้โดยเคร่งครัด ด้วยเหตุนี้การหลบเลี่ยงด้วยการรีบยักย้ายถ่ายเทเพื่อไม่ให้ครบตามเงื่อนไขตามกำหนด จึงเป็นสิ่งต้องมีการตรวจสอบและสกัดกั้นไม่ให้เกิดขึ้นได้

ดังกล่าวข้างต้นนี้ นับเป็นส่วนหนึ่งจากแนวปฏิบัติอันต้องให้เป็นที่ประจักษ์สำหรับ “สหกรณ์ในอิสลาม” ไม่ว่าสหกรณ์นั้นจะเป็นสหกรณ์ในอิสลามที่มีคำว่า “อิสลาม” กำกับอยู่ด้วยหรือไม่ก็ตาม ซึ่งจำเป็นยิ่งที่ต้องดำเนินตามครรลองอิสลามอย่างเคร่งครัดพร้อมกันไปในหลายๆ ด้าน โดยมิใช่เป็นเพียงการยึดตามเพียงบางด้านและละเลยในอีกบางด้าน ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงกำชับไว้ว่า

“พวกเจ้าจะศรัทธาแต่เพียงบางส่วนของคัมภีร์ และปฏิเสธอีกบางส่วนหระนั้นหรือ ดังนั้น สิ่งตอบแทนแก่ผู้กระทำเช่นนั้นจากพวกเจ้าจึงไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากความอัปยศอดสูในชีวิตแห่งความเป็นอยู่แห่งดลกนี้เท่านั้น และในวันกิยามะฮฺพวกเขาจะถูกนำกลับไปสู่การลงโทษอันฉกรรจ์ยิ่ง และพระองค์อัลลอฮฺนั้นจะไม่ทรงเผลอในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำอยู่”                               (อัลบะกอเราะฮฺ 2:85)

 

ความส่งท้าย

เมื่อหันมาพิจารณาสหกรณ์อิสลามในไทยที่แม้ว่ามีการขยายตัวในการจัดตั้งอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ทางภาคใต้ซึ่งมีประชากรมุสลิมอาศัยอยู่หนาแน่นกว่าภูมิภาคอื่น  แม้ผลการดำเนินงานโดยทั่วไปในเชิงปริมาณแล้วพบว่าส่วนใหญ่มีกำไร และมีสภาพคล่องทางการเงินค่อนข้างดี แต่สหกรณ์อิสลามก็ยังเผชิญปัญหาซึ่งไม่แตกต่างจากที่สหกรณ์โดยทั่วไปประสบ เช่น การขาดแคลนบุคลากร  สัดส่วนของหนี้สินต่อสินทรัพย์ทั้งหมดอยู่ในอัตราสูง หรือแม้แต่ความด้อยประสิทธิภาพในการให้บริการ และวังวนของปัญหาการบริหารจัดการ เป็นต้น เหล่านี้แม้ยังเป็นปัญหาสำคัญในสหกรณ์อิสลามที่จำเป็นต้องได้รับการเยียวยาแก้ไขก็ตาม แต่สิ่งที่ท้าทายสหกรณ์อิสลามมากไปกว่านั้นก็คือ การที่สหกรณ์เหล่านั้นต้องไม่เพียงมุ่งสู่การปรับเปลี่ยนหรือคลี่คลายปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะแวดล้อมที่แปรเปลี่ยน หรือเพื่อพยุงตนเองให้อยู่รอดเติบโตได้ไปวันๆ เท่านั้น หากแต่ทุกสหกรณ์อิสลามเหล่านั้นเองยังจำเป็นต้องตระหนักและหมั่นตรวจสอบถึงทิศทางของการปรับเปลี่ยนนั้น เพื่อมิให้การดำเนินงานของสหกรณ์อิสลามบิดเบือนไปจากรูปแบบและแนวคิดที่ควรจะเป็น นั่นคือ การเป็นองค์การสหกรณ์ที่ยืนหยัดบนวิถีทางอิสลาม ดังนั้น บรรดาพฤติกรรมเบี่ยงเบนต่างๆ ดังเช่นวิธีการดำเนินงานอันอาจเป็นไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในแบบต่างๆ ทำนองนี้ จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะปรากฏขึ้นในสหกรณ์อิสลาม อันได้แก่

...การเบี่ยงเบนสถานภาพของเงินก้อนหนึ่งด้วยถ้อยคำในเชิงภาษาจาก “ดอกเบี้ย” เป็น “ ค่าตอบแทน” ทั้งที่มีฐานคิดจากเรื่องของดอกเบี้ยโดยชัดเจน

...การขาดความซื่อสัตย์ในความรับผิดชอบ (อมานะฮฺ)

...การนำสิ่งที่ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของตนไปแสวงหาประโยชน์เพื่อตน

...การดึงเอาสหกรณ์ไปเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องมากกว่าการรักษาผลประโยชน์สูงสุดให้ตกอยู่กับมวลสมาชิก

...การหากินบนเมตตาธรรมของมนุษย์

ดังกล่าวข้างต้นนี้ หากแม้ปรากฏแทรกเข้ามาเพียงส่วนเสี้ยวน้อยนิด หรือหากแม้เกิดขึ้นเพียงในบางสหกรณ์ ก็นับว่าเป็นการละเมิดต่อความคาดหวังของสมาชิกผู้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิมที่ปราถนาอย่างบริสุทธิ์ใจจะมีสถาบันหรือองค์การธุรกิจที่ยึดตามครรลองอิสลามเป็นที่พึ่งพิง อีกทั้งเป็นการสร้างความด่างพร้อยให้แก่เพื่อนพ้องน้องพี่ชาวสหกรณ์อิสลามด้วยกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เป็นการทำร้ายและทำลายบทบัญญัติอันล้ำค่าอย่างอกตัญญูยิ่ง

ดังนั้น หากวันนี้ท่านเป็นผู้หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ในอิสลาม ไม่ว่าจะด้วยบทบาทใดๆ ก็ตาม เจตนาของท่านส่งเสริมสนับสนุนทั้งต่อการยืนหยัดในความเป็นสหกรณ์และอิสลาม อย่างจริงใจหรือไม่ ?

ท่านเองย่อมทราบดี !!

                                               

<><><><><><><><> 

เอกสารอ้างอิง

สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย. พระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่าน พร้อมความหมายภาษาไทย. ราชอาณาจักรซาอุดีอารเบีย ศูนย์กษัตริย์ฟะฮัด เพื่อการพิมพ์อัลกุรอาน. มปป.

Abu Bakr Jabir Al-Jjazaery. 1979. Minhaj Al-Muslim. Beirut : Dar Al-Yeel.

Afzalur Rahman.1979. Economic Doctrines of Islam : Banking and Insurance. Vol.4 London : The Muslim Schools Trust.

 

                                                                                                                                 



[1] เอกสารประกอบการบรรยาย โครงการสัมมนา “ทิศทางการดำเนินงานของสหกรณ์อิสลาม” จัดโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์    วันที่ 26 -28 มกราคม 2553  ณ โรงแรมหาดใหญ่พาราไดส์ แอนด์ รีสอร์ท อ. หาดใหญ่ จ. สงขลา

[2] ปรับปรุงจาก “ระบบสหกรณ์ในอิสลาม” ตีพิมพ์ครั้งแรก ใน วารสารสายสัมพันธ์ ฉบับปีที่ 33  อันดับที่ 355-356 (ก.ย.-ต.ค. 2541)  และฉบับปีที่ 34 อันดับที่ 363-364 (พ.ค.-มิ.ย. 2542)

[3] sayomporn.y@ku.ac.th