บทที่ 1

บทนำ

คำนำ

ในการทำการก่อสร้างโครงการหนึ่งๆ มักเกี่ยวข้องกับองค์ความรู้หลาย ๆ ด้านด้วยกัน หนึ่งในองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับผู้รับเหมาก่อสร้างได้แก่ เทคโนโลยีก่อสร้างซึ่งมักเกี่ยวข้องกับ วิธีและขั้นตอนในการก่อสร้าง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนสิ่งที่ทางสถาปนิกและวิศวกรเขียนอยู่ในแบบและรายการก่อสร้างให้เกิดเป็นสิ่งปลูกสร้างขึ้นมา ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทางผู้ที่จะทำการก่อสร้างโครงการเรียนรู้ถึงเทคโนโลยีก่อสร้างต่างๆ บทนี้อธิบายถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้าง เพื่อให้ผู้อ่านคุ้นเคยกับงานก่อสร้าง ก่อนที่จะศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับวัสดุและวิธีการก่อสร้างในบทต่อๆ ไป หัวข้อที่จะกล่าวถึงได้แก่  ผู้ที่เกี่ยวข้องในงานก่อสร้างอาคาร  ชนิดของงานก่อสร้าง  งานหลัก ๆ ในการก่อสร้างอาคาร  วัสดุที่ใช้ในงานก่อสร้างอาคาร  เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร และ วิธีการก่อสร้าง

โครงสร้างอุตสาหกรรมก่อสร้าง

แหล่งที่มาของงานก่อสร้างสามารถแบ่งใหญ่ ได้ 3 แหล่ง ได้แก่ งานจากภาคเอกชน  รัฐวิสาหะกิจ และ ภาคราชการ  งานในส่วนของภาคเอกชนแบ่งเป็น 2 ส่วนย่อย ๆ ได้แก่ งานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ งานที่ข้องกับทางธุรกิจ มักเกี่ยวข้องกับการลงทุนทางด้านธุรกิจมีการวิเคราะห์กำไรขาดทุน โดยที่งานก่อสร้างบางอย่างจำเป็นของการทำธุรกิจเช่น การสร้างโรงงาน หรืออาคารสำนักงานเพื่อเป็นที่ดำเนินธุรกิจ ในขณะที่งานบางอย่างเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นการสร้างเพื่อขายหรือเพื่อบริการ เช่น โรงงาน คอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนต์ บ้านจัดสรร โรงแรม รีสอร์ท ฯ ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจได้แก่การก่อสร้างที่พักอาศัย

ในส่วนของรัฐวิสาหกิจการดำเนินงานจะคล้ายกับธุรกิจของเอกชน แต่การลงทุนมาจากรัฐบาลส่วนหนึ่งส่วนที่เหลือมาจากการหารายได้จากการขายบริการ  งานก่อสร้างในส่วนรัฐวิสาหกิจมักเป็นการก่อสร้างโครงการที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของหน่วยงานนั้นๆ   เช่น งานก่อสร้างของการทางพิเศษ ได้แก่การสร้างทางด่วน เพื่อให้บริการ รายได้มาจากการเก็บเงินค่าผ่านทาง การท่าเรือได้แก่การก่อสร้างท่าเทียบเรือรายได้มาจากการเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าเช่าคลังเก็บสินค้า  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้แก่การก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้า และระบบจ่ายไฟฟ้า รายได้มาจากการขายไฟฟ้า  การประปา ได้แก่การก่อสร้างโรงกรองน้ำ การวางท่อเมนประปาโดยมีรายได้มาจากการขายน้ำประปา ฯ

งานก่อสร้างในส่วนของทางราชการมักเป็นการก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค ไม่ใช่เป็นการแสวงหากำไร  ตัวอย่างของหน่วยงานราชการ เช่น  กรมทางหลวงซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน สะพาน  กรมชลประทานทำการก่อสร้างเกี่ยวกับเขื่อนเพื่อการชลประทาน คลองส่งน้ำและโครงสร้างต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชลประทาน   กรมโยธาธิการก่อสร้างถนน สะพาน ระบบระบายน้ำทิ้ง ในเขตเมือง ฯ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ใช้ในการก่อสร้างมาจากงบประมาณแผ่นดิน รูปที่ 1.1 แสดงตัวอย่างของแหล่งที่มาของโครงการก่อสร้างในภาคต่างๆ

  

รูปที่ 1.1 โครงสร้างของอุตสาหกรรมก่อสร้าง

ชนิดของงานก่อสร้าง

อาคารสูง หมายถึง อาคารที่สูงที่ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษในการก่อสร้าง เช่น ปั้นจั่น ลิฟต์ นั่งร้านสำหรับแบบหล่อคอนกรีต เป็นต้น

อาคารสำเร็จรูป หมายถึงอาคารที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งอาจทำจากคอนกรีตหรือเหล็ก  โดยทั่วไปจะทำจากโรงงาน   การประกอบอาคารมักจะใช้ เครื่องจักรขนาดใหญ่ในการยกติดตั้ง

บ้านพักอาศัย  อาคารประเภทนี้เป็นงานขนาดเล็กและเบา โดยทั่วไปจะมีความสูง 1 ถึง 2 ชั้น

อาคารที่พักพิงชั่วคราว ได้แก่ที่พักคนงานหรือสถานที่ทำการชั่วคราว เพื่อการบริหารโครงการ

งานก่อสร้างแท่นเจาะสูบก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันดิบในทะเล

งานรื้อถอน (Demolition)  จัดเป็นงานก่อสร้างแขนงหนึ่ง ช่างและแรงงานที่เกี่ยวข้องในงานด้านนี้ต้องเป็นผู้ชำนาญงานหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานรื้อถอนที่อยู่ในย่านเขตชุมชนที่เป็นอาคารสูง หรือเป็นโรงงานสารเคมี งานรื้อถอนมักจะมีลำดับในการทำงานตรงข้ามกับงานก่อสร้าง เช่น งานรื้อถอนมักจะทำจากสูงลงมาต่ำ แต่งานก่อสร้างจะต้องทำจากล่างขึ้นไปข้างบน

อย่างไรก็ตามในโครงการก่อสร้างหนึ่ง ๆ อาจประกอบด้วยงานก่อสร้างหลายชนิดด้วยกัน เช่น โครงการก่อสร้างโรงแรมริมแม่น้ำ นอกเหนือจากตัวอาคารแล้วอาจมีโครงสร้างของเขื่อนกันดินริมฝั่งแม่น้ำ ถนนและที่จอดรถภายในโครงการ การจัดสวน ระบบระบายน้ำ โครงสร้างฐานราก และชั้นใต้ดิน ฯ โครงการก่อสร้างเขื่อน นอกเหนือจากการสร้างเขื่อนแล้ว ก็มักจะมีการสร้างอาคารที่ทำการ อาคารซ่อมบำรุง ฯ โครงการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน นอกเหนือจากการติดตั้งระบบเครื่องมือและอุปกรณ์ในการกลั่นแล้ว ยังต้องมีการก่อสร้าง ถนนภายในโครงการ อาคารต่างๆ เช่นอาคารควบคุม สถานีไฟฟ้าย่อย อาคารซ่อมบำรุง ระบบระบายน้ำในโครงการ ฯ การเดินท่อต่างๆ รูปที่ 1.2 แสดงตัวอย่างของงานก่อสร้างชนิดต่างๆ

 

ผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการก่อสร้าง

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการก่อสร้าง สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ ด้วยกันซึ่งทำงานประสานกัน  กลุ่มต่างๆ เหล่านี้ได้แก่  เจ้าของ   ผู้ออกแบบ และผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยที่แต่ละกลุ่มมีหน้าที่หลักๆ ดังต่อไปนี้

เจ้าของ

เป็นผู้ที่ทำให้เกิดงานหรือโครงการขึ้น และเป็นผู้ที่จ่ายเงินให้แก่ผู้ออกแบบและผู้รับเหมาก่อสร้าง หน้าที่หลัก ๆ ของเจ้าของงานพอสรุปได้ดังต่อไปนี้

รับผิดชอบในการระบุรายละเอียดและข้อกำหนดต่างๆให้แก่โครงการ เช่น ความต้องการในการใช้อาคาร ปริมาณน้ำมันดิบต่อวันที่จะต้องกลั่น   ปริมาตรก๊าซที่จะต้องส่งตามท่อในหนึ่งชั่วโมง  ปริมาณเหล็กเส้นที่จะต้องผลิตต่อวัน ฯ

กำหนดว่าจะเกี่ยวข้องกับโครงการในระดับใด  เช่น  กระบวนการตรวจทาน (Review Process)  รายละเอียดของรายงานต่างๆ ที่ต้องการ (Required reports) ระดับต่างๆที่จะอนุมัติ (Levels of Approval)

รับผิดชอบในการกำหนดปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกับต้นทุนโดยรวม การจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ กำหนดเวลาของงานหลัก  (Major Milestones) และวันสิ้นสุดโครงการ

ผู้ออกแบบ

ประกอบด้วย สถาปนิก และวิศวกรด้านต่างๆ เป็นผู้ที่แปลความต้องการของเจ้าของให้อยู่ในรูปของแบบรูปและรายการข้อกำหนด  เพื่อให้ผู้รับเหมาก่อสร้างสามารถทำการก่อสร้างได้ตามที่เจ้าของต้องการ โดยทั่วไปมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

จัดทำแบบรูป และรายการข้อกำหนดตามความต้องการของเจ้าของ

การออกแบบต้องทำตามบทบัญญัติ  ข้อกำหนด  และมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

การออกแบบต้องมีกำหนดเวลาที่สอดคล้องกับกำหนดเวลาหลักของเจ้าของ และกำหนดเวลาในการก่อสร้างของผู้รับเหมา

   การออกแบบจะมีผลกระทบต่อคุณภาพและราคาค่าก่อสร้างอย่างมาก  ดังนั้นผู้ออกแบบต้องทำงานประสานกับฝ่ายเจ้าของงานอย่างใกล้ชิด  เพื่อที่จะสามารถออกแบบให้ตรงกับความต้องการของทางเจ้าของงานให้มากที่สุด

ผู้รับเหมาก่อสร้าง

มีหน้าที่ทำงานให้เป็นไปตามเอกสารสัญญาซึ่งประกอบไปด้วย แบบรูป รายการข้อกำหนด ขอบเขตงาน และเงื่อนไขสัญญาอื่นๆ  ขั้นตอนก่อสร้างเป็นขั้นตอนที่สำคัญค่อนข้างมากเพราะมีผลต่อ งบประมาณ ระยะเวลาก่อสร้าง  ที่อาจจะบานปลายได้  อีกทั้งการใช้งานโครงการและค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษามีผล อย่างมากจากคุณภาพของงานที่ทำในระหว่างการก่อสร้าง

ผู้รับเหมาจะต้องประมาณราคาโครงการให้ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด  จัดทำกำหนดเวลาทำงานให้เป็นไปได้  จัดระบบควบคุมที่มีประสิทธิภาพสำหรับควบคุมต้นทุน  กำหนดเวลา  และคุณภาพงาน

รูปที่ 1.3  ฝ่ายหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้าง

 

นอกเหนือจาก  3  กลุ่มหลัก ๆ นี้  ในการทำงานโครงการก่อสร้างอาจมีกลุ่มหรือตัวแทนในการดูแลงานให้แก่เจ้าของโครงการ สำหรับในกรณีที่ทางเจ้าของโครงการไม่ค่อยมีเวลา หรือไม่มีความรู้เกี่ยวกับการจัดการโครงการก่อสร้างหรือการควบคุมงานก่อสร้าง  กลุ่มต่างๆ และหน้าที่ของกลุ่มต่างๆ พอจะสรุปได้ดังต่อไปนี้

ผู้บริหารโครงการก่อสร้าง

ผู้บริหารโครงการก่อสร้างเป็นหน่วยงานขนาดย่อม  มีวิศวกรหรือสถาปนิก  เศรษฐกร  ผู้ประมาณราคา ช่างเขียนแบบ ฯ  ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับเจ้าของโครงการตั้งแต่เริ่มต้นจนงานก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยทั่วไปมีหน้าที่ช่วยเจ้าของงานในด้านต่างๆ ดังนี้

คัดเลือกผู้ออกแบบโครงการ

ทำการประมาณราคาอย่างเป็นขั้นตอน  ตั้งแต่การประมาณอย่างหยาบจนถึงการประมาณราคาอย่างละเอียด

ให้คำปรึกษาแก่ผู้ออกแบบในฐานะที่ปรึกษาของเจ้าของโครงการ

ควบคุมค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง  กำหนดเวลาก่อสร้าง  ให้เป็นไปตามที่กำหนด

ทำการคัดเลือกผู้รับเหมาขั้นแรก (Pre-qualification)

ร่างเอกสารประกวดราคาและเอกสารประกอบสัญญา

ดำเนินการประกวดราคา  ต่อรองราคา  และการเซนต์สัญญา

ควบคุมงานก่อสร้าง (ขึ้นอยู่กับข้อตกลงกับทางเจ้าของงาน)

เป็นผู้ประสานงานของทุกฝ่าย  รับและจ่ายเอกสารต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างที่ตนรับผิดชอบอยู่

                จะเห็นได้ว่าผู้บริหารโครงการมีหน้าที่เกือบทุกชนิดยกเว้นการออกแบบและการแก้ไขแบบเท่านั้น ดังนั้นผู้บริหารโครงการมีส่วนที่จะทำให้ค่าก่อสร้างถูกหรือแพงและดีหรือไม่ดี

ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง

ผู้ควบคุมงานก่อสร้างคือผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบในระหว่างการก่อสร้าง  เพื่อดูว่างานนั้นเป็นไปตามแบบรูปและข้อกำหนดตามสัญญาข้อตกลงการว่าจ้างระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง   เป็นผู้ที่คุ้มครองผลประโยชน์ของเจ้าของงาน   ขอบเขตหน้าที่ และความรับผิดชอบมักเน้นทางด้านเทคนิควิศวกรรม  ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

อย่างไรก็ตาม ขอบเขตความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายมักจะขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถและ  ประสบการณ์ของแต่ละกลุ่มหลัก   ทั้งนี้ในการทำงานแต่ละโครงการควรมีการระบุหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายให้ชัดเจน เพื่อหลีกเลี่ยงการทำงานที่ซ้ำซ้อน หรืองานที่ไม่มีคนทำ (สำหรับการกำหนดขอบเขตและหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการก่อสร้างสามารถดูได้จาก หนังสือ ขอบเขตและหน้าที่การให้บริการวิชาชีพ การบริหารงานก่อสร้าง ว.ส.ท. 2540)

งานหลักๆ ในการก่อสร้างอาคาร

ในการทำการก่อสร้างอาคารพอจะแบ่งงานเป็น 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่ งานอาคาร งานสาธารณูปโภค และงานปรับปรุงพื้นที่  สำหรับงานสาธารณูปโภคและงานปรับปรุงพื้นที่ มักจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับ ขนาดและชนิดของโครงการ สำหรับงานอาคารโดยทั่วไปแล้วจะมีองค์ประกอบของงานที่คล้าย ๆ กัน

งานสาธารณูปโภค ได้แก่ ระบบระบายน้ำฝนในบริเวณก่อสร้าง ระบบระบายน้ำทิ้ง ระบบไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ภายนอกอาคาร ฯ งานปรับปรุงพื้นที่ได้แก่ ถนนภายในโครงการ ที่จอดรถและทางเท้า รั้วและประตู งานภูมิสถาปัตย์ งานปรับพื้นที่ เป็นต้น

งานอาคาร แบ่งเป็นงานโครงสร้าง งานสถาปัตย์กรรม และงานระบบภายในอาคาร โดยที่ แต่ละงานสามารถแบ่งเป็นงานย่อยๆ ได้ดังต่อไปนี้

งานโครงสร้าง

งานสถาปัตย์กรรม

งานระบบภายในอาคาร

รูปที่ 1.4 แสดงถึงงานหลัก ๆ ในการก่อสร้างอาคาร นอกเหนือจากนี้ยังมีงานที่จำเป็นต้องทำแต่ไม่ได้ระบุในแบบและรายการก่อสร้าง ซึ่งได้แก่งานชั่วคราว (Temporary works) ต่าง ๆ ได้แก่ งานวางผังอาคาร สำนักงานสนาม โรงเก็บวัสดุ ถนนชั่วคราว สาธารณูปโภคชั่วคราว และ งานแบบหล่อ (Formwork) ซึ่งอาจเป็นแบบหล่อ  ไม้ เหล็ก ไม้อัด หรือเป็นระบบแบบหล่อพิเศษ เช่น แบบเลื่อน (Slip form) แบบไต่ (Climbing form) หรือ แบบเคลื่อนที่ (Travelling form) เป็นต้น

 

รูปที่ 1.4 งานต่างๆ ในการก่อสร้างอาคาร

วัสดุที่ใช้ในงานก่อสร้างอาคาร

วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารพอจะจำแนกเป็นประเภทใหญ่ ๆได้ 2 ประเภท ได้แก่

วัสดุพื้นฐาน (Basic Materials)

ได้แก่วัสดุที่เป็นฐานในการผลิตวัสดุอื่น ๆ เพื่อใช้ในการก่อสร้าง เช่น  เหล็ก อลูมิเนียม ไม้  กรวด หิน ทราย ซีเมนต์ พลาสติก กระจก เป็นต้น

วัสดุผลิตภัณฑ์

ได้แก่วัสดุที่ผ่านกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเพื่อใช้ในการก่อสร้าง เช่น คอนกรีตสำเร็จรูป อิฐ เหล็กรูปพรรณ เหล็กเสริมคอนกรีต ลวดเหล็กอัดแรง ไม้แปรรูป ชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์ ชิ้นส่วนสำเร็จรูปหลังคา ผนังภายในอาคาร วงกบประตู หน้าต่าง วัสดุงานตกแต่งพื้น ผนัง ฝ้าเพดาน หลังคา เป็นต้น

เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร

เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารสามารถแบ่งได้ดังต่อไปนี้

วิธีการก่อสร้าง

ในการก่อสร้างอาคารสามารถที่จะแบ่งวิธีที่ใช้ในการก่อสร้างได้เป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภทได้แก่

การก่อสร้างอาคารโดยทั่วไป

การก่อสร้างโดยทั่ว ๆ ไปโดยใช้วิธีการก่อสร้างที่ธรรมดาไม่ได้ใช้เทคนิคพิเศษในการก่อสร้าง โดยทั่วไปมักประกอบด้วยงานต่างๆ ดังต่อไปนี้

ในการก่อสร้างจริงในสนามควรต้องมีการประสานกันของงานแต่ละระบบ สำหรับรายละเอียดของขั้นตอนการก่อสร้างจะกล่าวภายหลัง

งานก่อสร้างที่มีลักษณะพิเศษ

ในการทำงานก่อสร้างบางครั้งมีการคิดเทคนิคใหม่ๆ เพื่อให้งานก่อสร้างทำได้เร็วขึ้น ลดค่าใช้จ่าย หรือสามารถควบคุมคุณภาพได้ดีขึ้น เทคนิคต่างๆ ที่ใช้ในงานก่อสร้างอาคารเช่น

งานก่อสร้างชิ้นส่วนสำเร็จรูปขนาดใหญ่

 งานก่อสร้างชิ้นส่วนสำเร็จรูปเป็นวิธีการก่อสร้างที่จะหล่อชิ้นส่วนของอาคารก่อนที่จะนำไปติดตั้ง เป็นเทคนิคที่ช่วยให้งานก่อสร้างประหยัดและเสร็จเร็วขึ้น แต่มีข้อจำกัดคือขนาดของชิ้นส่วนจะถูกจำกัดด้วยเครื่องมือที่ใช้ในการขนส่งและติดตั้ง รอยต่อของชิ้นส่วนจะต้องถูกออกแบบมาเป็นอย่างดีเพื่อให้สามารถถ่ายแรงระหว่างชิ้นส่วนเพื่อให้ได้ระบบโครงสร้างที่สมบูรณ์

งานระบบอัดแรง 

งานระบบอัดแรง (Prestress) เป็นระบบที่ใส่แรงเข้าไปในโครงสร้างก่อนเพื่อต้านทานน้ำหนักบรรทุกที่จะเกิดขึ้น มี 2 ระบบคือ ระบบอัดแรงก่อนและระบบอัดแรงทีหลัง

แบบเลื่อน 

แบบเลื่อน (Slip form)เป็นระบบแบบหล่อที่จะเลื่อนไปขณะเทคอนกรีตเหมาะสำหรับโครงสร้างที่มีขนาดสม่ำเสมอ มี 2 ระบบคือแบบเลื่อนในแนวราบใช้กับงานก่อสร้างถนนคอนกรีต และแบบเลื่อนในแนวดิ่งใช้ก่อสร้าง ปล่องลิฟต์ ไซโล ปล่องควันฯ

Heavy lifting

การก่อสร้างวิธีนี้เป็นการก่อสร้างโดยประกอบชิ้นส่วนโครงสร้างที่มีขนาดใหญ่ในสถานที่ก่อสร้างแล้วใช้แม่แรงยกชิ้นส่วนขึ้นไปประกอบเป็นโครงสร้างที่สมบูรณ์

Gunite/Shotcrete

 Gunite หรือ Shotcrete เป็นการใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายปืนฉีดน้ำ ฉีดพ่นคอนกรีตไปบนที่รองรับ วิธีการก่อสร้างแบบนี้มักใช้กับการก่อสร้างโครงสร้างคอนกรีตบางอย่างเช่น หลังคาโครงสร้างเปลือกบาง โดยคอนกรีตจะถูกพ่นไปบนเหล็กเสริมที่มีลวดตะแกรงผูกอยู่เพื่อเป็นตัวยึดคอนกรีต หรือใช้กับการซ่อมแซมคอนกรีตที่เป็นโพรง เพราะการอัดฉีดเข้าไปด้วยแรงดันสูงจะทำให้คอนกรีตที่พ่นลงไปมีเนื้อแน่น

Pumpcrete 

Pumpcrete เป็นการเทคอนกรีตโดยใช้ปัมพ์ เหมาะสำหรับการเทคอนกรีตที่มีปริมาณมาก เพราะอัตราการเทจะเร็วมากทำให้งานก่อสร้างเสร็จเร็ว หรือใช้เทคอนกรีตที่อยู่ในที่สูงหรือไกลจากที่เทมาก

Tremie

Tremie เป็นวิธีการเทคอนกรีตใต้น้ำโดยใช้ท่อเหล็กที่จมอยู่ในคอนกรีตที่เทตลอดเวลาเป็นตัวดันคอนกรีตที่เทไปก่อนแล้วขึ้นข้างบน ทำให้คอนกรีตส่วนที่เททีหลังไม่สัมผัสกับน้ำ

Top-down construction

 การก่อสร้างชนิดนี้เป็นการก่อสร้างโครงสร้างอาคารที่แบ่งระบบโครงสร้างเป็น 2 ส่วน ส่วนที่เหนือดินและส่วนที่อยู่ใต้ดิน โดยการก่อสร้างจะทำการก่อสร้างไปเกือบพร้อมๆ กัน เหมาะสำหรับการก่อสร้างในสถานที่แคบแต่ต้องการความรวดเร็ว โครงสร้างใต้ดินจะเป็นผนังกันดินไปในตัว (Diaphragm wall )

การก่อสร้างสลับชั้น 

การก่อสร้างสลับชั้นเป็นการก่อสร้างโครงสร้างอาคารสูงโดยทำงานโครงสร้างชั้นเว้นชั้นหรือชั้นเว้นสองชั้น  หลังจากที่โครงสร้างพื้นชั้นที่ทำไปแล้วสามารถรับน้ำหนักได้ด้วยตัวเอง และถอดค้ำยันออกแล้ว จึงทำการก่อสร้างโครงสร้างของพื้นชั้นที่เว้นไว้  วิธีนี้เป็นเทคนิคในการเร่งงานก่อสร้างชนิดหนึ่งเพราะสามารถทำงานขนานกันไปพร้อม ๆ กันทำให้สามารถลดระยะเวลาที่ใช้ในการก่อสร้างได้ แต่มีข้อระวังคือ รอยต่อของเสากับโครงสร้างพื้นที่เว้นไว้ต้องออกแบบและก่อสร้างให้สามารถถ่ายแรงระหว่างกันได้

 

 

กลับ