ข้อมูลใช้ในการประชุมสัมมนาวิชาการปศุสัตว์ ครั้งที่ 9

วันเสาร์ที่ 24 เมษายน 2547 เวลา 8.30-16.30 น.

ณ ห้องประชุม สุธรรม อารีกุล ชั้น 1 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ

จัดโดย

สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย

ร่วมกับ

ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ กรมปศุสัตว์

เรื่อง

ไก่เป็นหวัด อย่าเป็นไก่ตื่น เลี้ยงไก่ยั่งยืน เรามีเทคนิค


ที่มา

การเกิดโรคระบาด ไข้หวัดนก (Bird flu) ขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่ปลายปี 2546 ประกาศยอมรับเป็นทางการ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2547 และใช้มาตรการตาม พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2542 ทำให้เกิดความตื่นตระหนก และการต่อต้านจากผู้เลี้ยงไก่หลายกลุ่ม เนื่องจากการขอให้ทำลายไก่ก่อนหน้านี้ให้ค่าชดเชยค่อนข้างต่ำ จึงทำให้มีการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ ประกอบกับการขาดความรู้ความเข้าใจของผู้เลี้ยงไก่ ทำให้โรคแพร่ระบาดออกไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ถึง 41 จังหวัด 84 อำเภอ (ตามประกาศของกรมปศุสัตว์) มีผู้ป่วยและตาย กลุ่มที่ยืนยัน ติดเชื้อโรคไข้หวัดนก ป่วย 12 ราย และตาย 8 ราย กลุ่มที่สงสัยว่าติดเชื้อโรคไข้หวัดนก ป่วย 21 ราย และตาย 8 ราย (ตามรายงานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข)

 

 

ชื่อโรค

ไข้หวัดนก (Avian Influenza) หรือ Bird flu

 

 

สาเหตุ

Influenza virus Type A

 

Influenza Virus อยู่ในตระกูล Orthomyxoviridae ซึ่งเป็น RNA Virus ชนิดที่มีเปลือกหุ้ม มี antigen protein 2 ตัว คือ Haemagglutinin (HA) และ Neuraminidase (NA) ปัจจุบันพบว่า HA มี 15 ชนิด และ NA มี 9 ชนิด ได้มีการแบ่งกลุ่มเชื้อไวรัสตามความรุนแรง และชนิดของ antigens ดังนี้

 

1) Type A มี 15 subtype พบในสัตว์ปีกทุกชนิด และยังพบในคนหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ เช่น สุกร และม้า เป็นต้น

 

2) Type B ไม่มี subtype พบเฉพาะในคน

 

3) Type C ไม่มี subtype พบในคน และสุกร

 

โดยทั่วไปเชื้อไวรัสแต่ละตัวจะแพร่ระบาดติดต่อและสร้างปัญหาให้กับ คน หรือสัตว์ แต่ละชนิดเป็นการเฉพาะ ไม่ข้ามสายพันธุ์ แต่มักพบเชื้อไวรัสกลุ่มนี้เกือบทุกตัวในสัตว์ปีก (เชื้อไวรัสที่ติดต่อในคน อยู่ใน Subtype H1, H2 และ H3)

 

 

อาการ

สัตว์ที่ติดเชื้อโรค จะแสดงอาการป่วยแตกต่างกันมาก ตั้งแต่ ไม่แสดงอาการป่วย มีไข้ ซึม เบื่ออาหาร ไข่ลด ขนร่วง ไอ จาม หน้าบวม ท้องเสีย จนถึง การป่วยแบบเฉียบพลัน และอาจตายถึง 100 % ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อไวรัส

 

 

การติดต่อ

ไข้หวัดนก เชื้อไวรัสจะแพร่ออกมาทางสารคัดหลั่ง และอุจจาระ การติดต่อระหว่างสัตว์ปีก ส่วนใหญ่ เกิดจากการสัมผัสกับอุจจาระที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่มากกว่าการแพร่ทางอากาศ การติดต่อจากสัตว์ปีกไปสู่คน ส่วนใหญ่ ติดต่อจากการสัมผัสกับสัตว์ป่วยโดยตรง เด็กและผู้สูงอายุจะติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนหนุ่มสาว และยังไม่เคยพบการติดเชื้อจากการบริโภคเนื้อหรือไข่ที่ทำสุกแล้ว เปรียบเทียบกับการเกิด ไข้หวัดใหญ่ในคน เชื้อไวรัสจะแพร่ออกมาทางสารคัดหลั่ง และการติดต่อระหว่างคน โดยเชื้อโรคแพร่ไปทางอากาศ มีระยะฟักตัวสั้น และเกิดอาการป่วยได้อย่างรวดเร็วมาก ผู้ป่วยอาจตายด้วยอาการปอดอักเสบอย่างรุนแรง และถ้าผู้ติดเชื้อมีสภาพร่างกายอ่อนแอ จะมีโอกาสตายสูง

 

 

แหล่งโรค

สัตว์ปีกทุกชนิด มีความไวต่อการติดเชื้อโรคนี้ และสัตว์ปีกบางชนิด เป็นแหล่งเก็บเชื้อโรคโดยอาจไม่แสดงอาการป่วย แต่พร้อมที่จะแพร่เชื้อโรคได้ เช่นไก่งวง นกป่า และนกน้ำต่างๆ เช่น นกนางนวล นกเป็ดน้ำ เป็ด และ ห่าน เป็นต้น

 

 

การป้องกัน

1. จัดการเลี้ยงสัตว์ด้วยระบบปิด เพื่อป้องกันพาหะนำโรคไม่ให้เข้าถึงสัตว์เลี้ยง

1.1 จัดการวางผังฟาร์ม และสร้างโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

1.2 มีรั้ว ที่สามารถป้องกัน สัตว์ที่อาจเป็นพาหะนำโรค เช่น สุนัข หมูป่า เป็นต้น

1.3 จัดสถานที่ให้โปร่ง ควรปลูกหญ้า และตัดให้สั้นอยู่เสมอ ไม่ควรปลูกต้นไม้ใหญ่

1.4 ที่ตั้งฟาร์ม ควรอยู่ห่างไกลจากเส้นทางการเคลื่อนย้ายถิ่นของนกป่า และนกน้ำ

1.5 หลีกเลี่ยงการมีสระน้ำที่อาจเป็นแหล่งอาหารสำหรับนกน้ำ

1.6 มีอุปกรณ์กำจัดเชื้อโรคสำหรับยานพาหนะ หรือสิ่งของที่ต้องการนำเข้ามาในฟาร์ม

1.7 ควบคุม การเข้า-ออก ของบุคคล ที่ต้องเข้าไปในโรงเลี้ยงสัตว์ อย่างถูกต้อง

1.8 หลีกเลี่ยงการต้อนรับผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และบุคคลภายนอกที่มาเยี่ยมเยือน

 

2. จัดการ ด้านการสุขาภิบาล อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

2.1 ควบคุม ดูแล แหล่งน้ำ และการใช้น้ำ สำหรับการเลี้ยงสัตว์ อย่างถูกต้อง

2.2 มีอุปกรณ์ และของใช้ สำหรับบุคคล ที่ถูกสุขลักษณะ

2.3 รักษาความสะอาด กำจัดสิ่งปฏิกูลและของเสียอย่างถูกต้อง และสม่ำเสมอ

2.4 ควบคุมแมลงวัน หนู นก และสัตว์ที่เป็นพาหะอื่นๆ อย่างถูกต้อง และสม่ำเสมอ

2.5 ควบคุม และกำจัด สัตว์ป่วย และซากสัตว์ อย่างถูกต้อง

 

3. จัดการ ด้านการเลี้ยงสัตว์ อย่างถูกต้อง

3.1 จัดเตรียมพื้นที่เลี้ยงสัตว์ และดูแลเลี้ยงสัตว์ อย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ

3.2 แบ่งการเลี้ยงสัตว์เป็นฝูง ตามอายุสัตว์ และหลีกเลี่ยงการติดต่อกัน ข้ามฝูงสัตว์

3.3 จัดหาสัตว์เลี้ยง และอาหารสัตว์ จากแหล่งที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้

3.4 จัดการทำวัคซีน และให้ยา ตามความจำเป็น อย่างถูกต้อง

3.5 จัดการเคลื่อนย้ายสัตว์ ทั้งนำเข้า และส่งตลาด อย่างถูกต้อง และเข้มงวด

 

 

ความคงทน

เชื้อไวรัส H5N1 มีความคงทน หรืออ่อนแอ ต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งพอสรุปได้ ดังนี้

 

1) สามารถอยู่ในมูลสัตว์ที่เปียกชื้น ได้นาน 44 วัน

 

2) สามารถอยู่ในแหล่งน้ำ ที่มีอุณหภูมิ 0 C ได้นาน 30 วัน ถ้า 22 C ได้นาน 4 วัน

 

3) ความสามารถในการติดต่อ จะลดลงอย่างรวดเร็ว ถ้าเชื้อไวรัสอยู่ในสภาพที่มี pH = 5 หรือน้อยกว่า หรือในสภาพที่มีอุณหภูมิ 56 C หรือมากกว่า

 

4) ผงซักฟอก น้ำยาฆ่าเชื้อทั่วไป และแสง UV สามารถทำลาย เชื้อไวรัส H5N1 ได้

 

 

พัฒนาการ

เชื่อกันว่า Influenza virus ได้อุบัติขึ้นในโลกนี้มานานนับพันปีแล้ว ไม่ใช่เชื้อไวรัสตัวใหม่แต่อย่างใด มีรายงานพบการระบาดของ Influenza virus ครั้งแรกในคนเมื่อปี 1874 และพบในไก่ เมื่อปี 1878 แต่สามารถพิสูจน์ยืนยันเชื้อไวรัส ที่ทำให้เกิดโรคในไก่ ปี 1901, ในสุกร ปี1931 และในคน ปี 1933 และสามารถแยกเชื้อไวรัส Highly Pathogenic Avian Influenza (HPAI) ได้ ในปี 1959

 

ในปี ค.ศ.1918 เกิดการแพร่ระบาดของ Influenza virus ครั้งใหญ่กินพื้นที่กว้างขวาง ทั้งในทวีปยุโรป และอเมริกา ทำให้มีคนตายไปเป็นจำนวนมาก หลายสิบล้านคน จึงเรียกชื่อโรคนี้ใหม่ว่า Universal Influence หรือเรียกเป็นภาษาละตินว่า Influenza (โรคนี้มีชื่อเดิมว่า La Grippe) อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาด ของ Influenza virus ได้สร้างความเสียหายไว้มากมาย ทั้งในคนและสัตว์ ซึ่งพอสรุปได้ ดังนี้

 

ปี

เชื้อ

การเกิดโรค

 

1874

H3N8

ไข้หวัดใหญ่ในคน

 

1878

 

ไข้หวัดในไก่

 

1890

H2N2

ไข้หวัดใหญ่ในคน

 

1901

 

สามารถพิสูจน์เชื้อไวรัส ที่ทำให้เกิดโรคในไก่

 

1902

H3N2

ไข้หวัดใหญ่ในคน

 

1918

H1N1

Spanish flu ไข้หวัดใหญ่ในคน เริ่มต้นที่ สเปน แล้วระบาดออกไปอย่างกว้างขวาง ทั้งในทวีปยุโรปและอเมริกา มีคนตายไปหลายสิบล้านคน

 

1931

 

สามารถพิสูจน์เชื้อไวรัส ที่ทำให้เกิดโรคในสุกร

 

1933

 

สามารถพิสูจน์เชื้อไวรัส ที่ทำให้เกิดโรคในคน

 

1947

H1N1

ไข้หวัดใหญ่ในคน ตรวจพบว่ามี variation ของเชื้อไวรัส

 

1957

H2N2

Asian flu ไข้หวัดใหญ่ในคน ระบาดจากจีนไปถึงสหรัฐอเมริกา มีคนตายหลายแสนคน

 

1959

H5N1

Avian flu ในไก่ ที่ สก็อตแลนด์ (พบเชื้อ H5N1 เป็นครั้งแรก) สามารถแยกเชื้อ Highly Pathogenic Avian Influenza (HPAI) ได้

 

1961

H5N3

Avian flu ในนกน้ำที่หากินตามชายทะเล ที่ South Africa

 

1963

H7N3

Avian flu ในไก่งวง ที่ อังกฤษ

 

1966

H5N9

Avian flu ในไก่งวง ที่ ออนทาริโอ

 

1968

H3N2

Hong Kong flu ไข้หวัดใหญ่ในคน ระบาดจาก ฮ่องกง ไปถึงสหรัฐอเมริกา มีคนตายหลายแสนคน และเชื้อตัวนี้ยังคงเป็นปัญหาอยู่ในสหรัฐอเมริกา

 

1972

H7N1

Avian flu ในนกป่าขนาดเล็ก ที่ เยอรมันนี

 

1976

H7N7

Avian flu ในไก่ ที่ วิคทอเรีย

 

1977

H1N1

Russian flu ไข้หวัดใหญ่ในคน ระบาดครั้งใหญ่ในรัสเซีย

 

1979

H7N7

Avian flu ในนกนางนวลที่เยอรมันนี และในไก่งวงที่อังกฤษ

 

1983

H5N2

Avian flu ในไก่ ที่เพนซิลวาเนีย มีการทำลายไก่ประมาณ 17 ล้านตัว มูลค่าความเสียหายประมาณ 350 ล้านดอลลาร์

 

 

H5N8

Avian flu ในไก่งวง ที่ไอร์แลนด์

 

1985

H7N7

Avian flu ในไก่ ที่ วิคทอเรีย

 

1986

H5N2

Avian flu ในไก่ ที่ 5 มลรัฐ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา

 

1991

H5N1

Avian flu ในไก่งวง ที่ อังกฤษ

 

1992

H7N3

Avian flu ในไก่ ที่ วิคทอเรีย

H7N4

Avian flu ในไก่ ที่ ออสเตรเลีย

1994

H7N3

Avian flu ในไก่ ที่ ควีนส์แลนด์

H5N2

Avian flu ในไก่ ที่ เม็กซิโก

H7N3

Avian flu ในไก่ ที่ ปากีสถาน

1997

H5N1

Avian flu ในไก่ ที่ ฮ่องกง พบว่ามีการติดต่อจากไก่สู่คน เป็นครั้งแรก โดยเกิดจาก Subtype H5 ทำให้มีคนป่วย 18 คน และตาย 6 คน มีการทำลายไก่ประมาณ 1.5 ล้าน

H5N2

Avian flu ในไก่ เป็ด นก ที่ อิตาลี

H7N4

Avian flu ในนกอีมู ที่ ออสเตรเลีย

1998

H7N2

Avian flu ในไก่ ที่ เพนซิลวาเนีย

H7N4

Avian flu ในไก่ ที่ ออสเตรเลีย

H9N2

Avian flu ในไก่ ที่ฮ่องกง มีการติดต่อจากไก่สู่คน, ที่เกิดจาก Subtype H9 เป็นครั้งแรก พบผู้ป่วย 2 คน

1999

H7N1

Avian flu ในไก่งวง ที่ อิตาลี มีการทำลายไก่งวง ประมาณ 14 ล้านตัว มูลค่าความเสียหายประมาณ 200 ล้านยูโร

2001

H7N2

Avian flu ในไก่ ที่ คอนเนคติกัต

2002

H7N3

Avian flu ในไก่ ที่ ชิลี

H5N1

Avian flu ในไก่ ที่ ฮ่องกง

H9N2

Avian flu ในไก่ ที่ ฮ่องกง

H9N2

Avian flu ในไก่ ที่ กวางตุ้ง ติดต่อสู่คน พบผู้ป่วย 5 คน

2003

H7N7

Avian flu ในไก่ ที่ เนเธอร์แลนด์ พบการติดต่อจากไก่สู่คน ที่เกิดจาก Subtype H7 เป็นครั้งแรก พบผู้ป่วย 83 คน ตาย 1 คน ทำลายไก่ประมาณ 30 ล้านตัว มูลค่าความเสียหายประมาณ 750 ล้านยูโร

H5N1

Avian flu ในไก่ ที่ ฮ่องกง ติดต่อสู่คน พบผู้ป่วย 2 คน ตาย 1 คน

H9N2

Avian flu ในไก่ ที่ ฮ่องกง ติดต่อสู่คน พบเด็กป่วยหลายคน

H7N7

Avian flu ในไก่ ที่ เยอรมันและเบลเยี่ยม

H5N1

Avian flu ในไก่ ที่ เกาหลีใต้

2004

H5N1

Avian flu ในไก่ ที่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง เวียตนาม จีน ประเทศไทย กัมพูชา ลาว และ อินโดนีเซีย

H5N2

Avian flu ในไก่ ที่ สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน

H7N3

Avian flu ในไก่ ที่ แคนาดา

H7

Avian flu ในไก่ ที่ ปากีสถาน (ยังไม่มีรายงานชนิดของ NA)

น่าสนใจ

1) มีรายงานการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในคน (ที่เกิดจาก Influenza virus) ในประเทศที่อยู่ในเขต อบอุ่นเป็นประจำอยู่แล้ว โดยเฉพาะในสหรัฐฯ มีปัญหาเกือบทุกปี และเสียชีวิตปีละหลายหมื่นคน

2) การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในคน ที่รุนแรงมาก ระบาดติดต่อในหลายทวีป และทำให้คนตายจำนวนมาก มี 3 ครั้ง คือ ปี 1918 Spanish flu ปี 1957 Asian flu และปี 1968 Hong Kong flu

3) การระบาดของไข้หวัดนก ที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก (ไม่รวมปี 2004) มี 3 ครั้ง คือ ปี 1983 ที่เพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา ปี 1999 ที่ อิตาลี และปี 2003 ที่ เนเธอร์แลนด์

4) พบการแพร่เชื้อ subtype H5 จากไก่สู่คน ครั้งแรก ในปี 1997 (H5N1) ที่ ฮ่องกง พบการแพร่เชื้อ subtype H9 จากไก่สู่คน ครั้งแรกในปี 1998 (H9N2) ที่ ฮ่องกง และพบการแพร่เชื้อ subtype H7 จากไก่สู่คน ครั้งแรก ปี 2003 (H7N7) ที่ เนเธอร์แลนด์

5) การแพร่ระบาดของไข้หวัดนกเกือบทุกครั้ง จะมีความใกล้ชิดกับฤดูการเคลื่อนย้ายถิ่นของนกป่า และนกน้ำ

6) การแพร่ระบาดของ ไข้หวัดนก ในปี 2003 – 04 ครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวางถึง 13 ประเทศ (จากรายงานของ OIE, 17 เม.ย.47) มีเชื้อที่ระบาด 4 ชนิด สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ ให้แก่แหล่งผลิตสัตว์ปีกของโลก และมีผู้เสียชีวิตอีกหลายสิบคน

ผลกระทบ

จะเห็นว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โรคนี้มีแนวโน้มของการระบาดกว้างขวาง รุนแรง และมีความถี่ในการเกิดโรคมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้น เชื้อไวรัสยังมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวร้ายมากขึ้น กล่าวคือ แต่เดิมการเกิดโรคในคนหรือสัตว์ มีสาเหตุมาจาก Influenza virus คนละตัว ไม่สามารถติดต่อข้ามจากสัตว์มาสู่คนได้ เริ่มพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสจากไก่มาสู่คน ครั้งแรกที่ฮ่องกง เมื่อปี 1997 ส่งให้เกิดผลทางจิตวิทยาอย่างมาก เพราะมีการนำผลของการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ เมื่อปี 1918 มาเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบ และยกประเด็นความปลอดภัยของบุคคล มาเป็นหลักในการพิจารณา อันที่จริง ก็มีเหตุผลให้ต้องคิดเช่นนั้น แต่ต้องไม่ลืมว่า เวลาที่ต่างกันร่วม 100 ปี เราน่าจะมีวิทยาการและความสามารถที่จะต่อสู้ หรือป้องกันได้ดีกว่านั้น จากการระบาดของโรคนี้ ในปี 2003 – 04 พบว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ มาจากการทำลายสัตว์ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับแหล่งที่พบสัตว์ป่วย และเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนสัตว์ที่ป่วยจริงแล้ว มีความแตกต่างกันนับเป็นร้อยเท่า เป็นความสูญเสียของทรัพยากรและแหล่งอาหารครั้งใหญ่ของโลก แต่ปรากฏว่าไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดของโรคได้ ในทางตรงข้าม โรคกลับระบาด ลุกลามไปทั่วทุกแหล่งที่มีการผลิตไก่เพื่อเป็นอาหารของพลโลก แม้ว่าจะมีผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการติดเชื้อโรคในครั้งนี้ด้วย แต่การติดโรคก็มีข้อจำกัด และอยู่ในวงแคบมาก เฉพาะผู้ที่สัมผัสกับไก่ป่วยโดยตรงเท่านั้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบ กับผู้ที่เสียชีวิตจากการขาดอาหารแล้ว พบว่า มีคนตายจากการขาดอาหารมากกว่าตายจากการป่วยด้วยโรคไข้หวัดนกหลายร้อยหลายพันเท่า ยิ่งต้องเร่งรีบพิจารณาว่า มาตรการทำลายไก่ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคนั้น สมควรหรือคุ้มค่าหรือไม่ มีวิธีการอื่นที่เหมาะสม และคุ้มค่ากว่าหรือไม่ จะเห็นได้ว่า การกระทำที่ผ่านมา เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และความสูญเปล่าทางทรัพยากร เป็นอย่างมาก อีกทั้งไม่อาจยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค และไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยของประชาชนได้ ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ยอมรับความจริงว่า เราไม่สามารถทำลายนกป่า และนกน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งหลบพักของเชื้อโรคได้ และถ้าเรายังต้องการใช้สัตว์ปีกเป็นอาหาร เราควรพิจารณาป้องกันแหล่งผลิตอาหารของเราอย่างเต็มที่ ดีกว่าใช้วิธีการทำลาย ด้วยหลักการนี้ การทำวัคซีนสำหรับสัตว์ปีกที่เลี้ยงเป็นอาหาร รวมถึงการทำวัคซีนป้องกันโรคที่อาจติดต่อมาจากสัตว์ ให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เช่น คนงานเลี้ยงไก่ สัตวบาล และสัตวแพทย์ เป็นต้น น่าจะให้ผลดีและคุ้มค่ามากกว่า และเชื่อว่าในทางวิชาการสามารถทำได้อย่างแน่นอน ปัญหาสำคัญอยู่ที่ กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับระหว่างประเทศ ที่เหล่ามวลสมาชิกได้ให้สัตยาบรรณไว้แล้วนั้น จะร่วมกันแก้ไขได้หรือไม่ และใครจะเป็นคนเริ่มต้น

วัคซีน

จากความกังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสตามธรรมชาติ ถ้ามีการทำวัคซีนในฝูงไก่ จะไม่สามารถทราบได้ว่า มีการติดเชื้อโรคในฝูงไก่ และถ้ามีการติดเชื้อจริง เชื้อนั้นอาจแพร่ไปยังประเทศผู้นำเข้าได้ จึงมีข้อตกลงระหว่างประเทศว่า จะไม่สั่งซื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์จากประเทศที่ควบคุมโรคไข้หวัดนกด้วยวิธีการทำวัคซีน แต่อย่างไรก็ตาม จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก ในปี 2003 – 04 ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ และความสูญเสียทางทรัพยากรไปเป็นจำนวนมาก ทำให้มีผู้เรียกร้อง ให้พิจารณาการใช้วัคซีน ในการควบคุมโรค เข้าสู่ OIE แล้ว คงต้องรอดูต่อไป ……….