พุทธธรรมน่ารู้ : สัปปุริสธรรม*

ในโลกเรานี้
มีทั้งคนดีและคนไม่ดีอยู่รวมกัน ควรที่จะเลือกคบและสนทนาปราศรัยกับคนดี
ส่วนคนไม่ดี ควรจะหลีกเลี่ยงให้ห่างไกล สำหรับคนดี มีหลักหรือคุณสมบัติสำหรับพิจารณาคนดีตามหลักคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ตรัสถึงคนดีว่า
จะต้องประกอบด้วยคุณธรรมหรือคุณสมบัติ หรือที่เรียกว่า สัปปุริสธรรม ธรรมของสัตบุรุษ
คนดี 7 ประการคือ
ประการที่
1 รู้จักเหตุ คือ รู้จักหลักการที่จะทำให้เกิดผลดี มีความสุข มีความถูกต้อง
ก่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขทั้งแก่ตนเองและบุคคลอื่น อีกทั้งรู้ว่าเมื่อกระทำเหตุเช่นนี้
หรือกระทำตามหลักการข้อนี้แล้วจึงจะให้เกิดผลที่ต้องการนั้น ๆ ได้
ประการที่ 2 รู้จักผล คือ รู้ความหมายหรือรู้ประโยชน์ที่ประสงค์
รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นอันสืบเนื่องมาจากการกระทำเหตุที่ดีหรือเป็นไปตามหลักการที่ดี
ประการที่ 3 รู้จักตน คือ รู้จักว่าตนเป็นใคร เพื่อที่จะทำตนเองให้เหมาะสมในการปฏิบัติตามหน้าที่
เช่น เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นข้าราชการ หรือเป็นชาวไร่ชาวนา ก็วางตนให้อยู่ในระเบียบวินัย
ตามกฎหมายของบ้านเมืองหรือเป็นพระภิกษุสามเณร ก็ต้องประพฤติปฏิบัติอยู่ในกรอบของพระธรรมวินัย
เพื่อที่จะได้ปลูกฝังความเชื่อ ความเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนให้มากขึ้น
ประการที่ 4 รู้จักประมาณ คือ รู้จักประมาณในการดำเนินชีวิตให้เหมาะสมกับสังคมในปัจจุบัน
จับจ่ายใช้สอยให้พอเหมาะกับรายได้ของตน ไม่ฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่ายเกินไปจนเกิดเป็นหนี้สินขึ้น
ประการที่ 5 รู้จักกาล คือ รู้จักว่าเวลาไหนควรจะพูด เวลาไหนควรจะทำ
หรือเวลาไหนควรจะประกอบหน้าที่การงานอะไรให้เหมาะสมกับฐานะของตน
ประการที่ 6 รู้จักชุมชน คือ รู้จักระเบียบในสังคมนั้น ๆ ว่ามีระเบียบประเพณีและวัฒนธรรมอย่างไร
แล้ววางตนให้เหมาะสมในการที่จะประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามประเพณีนิยมของสังคมนั้น
ๆ ไม่ควรแสดงออกในสิ่งที่ขัดต่อความรู้สึกของสังคมนั้น ๆ ด้วย
ประการที่ 7 รู้จักบุคคล คือ การกำหนดรู้จักอุปนิสัยใจคอและอารมณ์ของผู้อื่น
และทำการคบหา เพื่อเป็นการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างสังคม เป็นการเรียนรู้นิสัยใจคอหรือความต้องการของคนนั้น
ๆ ซึ่งเมื่อเราได้ทราบแล้ว การติดต่อต่าง ๆ ก็จะอำนวยประโยชน์ให้เกิดขึ้นได้โดยง่าย
ไม่ติดขัดในหน้าที่การงานและเป็นเหตุนำมาซึ่งประโยชน์สุขให้แก่สังคมอีกด้วย
คุณสมบัติหรือหลักสำหรับพิจารณาคนดี 7 ประการเหล่านี้ เป็นข้อชี้แนะให้เรารู้จักและเข้าใจในการพิจารณาบุคคลที่เราต้องเข้าไปคบหา
สนทนาปราศรัยด้วยว่าเป็นคนดีหรือไม่ดีอย่างไร เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของตนต่อไป

*คัดจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ
ฉบับวันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน 2547 ศาสนา-สารธรรม หน้า 27
คอลัมน์ : เทวราช ธรรมสภา พระราชสุธี(โสภณ โสภณจิตโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร
วรวิหาร
ผู้จัดทำ homepage ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ และขอแสดงความขอบพระคุณเป็นอย่างสูงไว้
ณ ที่นี้
(พิเศษ 29/6/2547)