รายชื่อนักวิจัย

 

1.  รศ.ดร.อภิลักษณ์ ธรรมทวีธิกุล                                                     หัวหน้าโครงการและนักวิจัย

2.  อ. ดร.อรสา ไทยานันท์                                                                  นักวิจัย

3.  นายอุดมพงษ์ ดอกไม้                                                                    นักวิจัย

 

 

บทคัดย่อ

 

                การพัฒนากระบวนการทำงานของบุคลากรสายสนับสนุนวิชาการและช่วยวิชาการ  มีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประสิทธิภาพของการจัดการศึกษาคณะมนุษยศาสตร์  คณะผู้วิจัยได้ศึกษาปัญหาและความพึงพอใจในการทำงาน   ตลอดจนข้อเสนอแนะโดยรวบรวมข้อมูลทั้งจากอาจารย์ในคณะมนุษยศาสตร์ และจากบุคลากรสายสนับสนุนและช่วยวิชาการซึ่งประกอบด้วยข้าราชการสาย ข และสาย ค ลูกจ้างประจำ  และลูกจ้างชั่วคราวโดยแบ่งหน้าที่ได้เป็น 4 ประเภทคือ เจ้าหน้าที่ธุรการ เจ้าหน้าที่ทำความสะอาด  เจ้าหน้าที่โสตทัศนูปกรณ์  และเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ประจำคณะมนุษยศาสตร์

               

ผลการศึกษาพบว่า  โดยทั่วไปอาจารย์มีความพึงพอใจในแง่บวกในเรื่องการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆในภาพรวมในระดับปานกลางโดยมีค่าเฉลี่ยร้อยละ 51  แต่มีข้อสังเกตว่าถึงแม้ความพึงพอใจในแง่ลบจะมีน้อยมาก  การไม่แสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆมีค่าร้อยละค่อนข้างสูงถึงร้อยละ  42 โดยเฉลี่ยในภาพรวมและเมื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของอาจารย์และของเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆในเรื่องของภาระงานของเจ้าหน้าที่  พบว่าอาจารย์และเจ้าหน้าที่มีความเข้าใจในเรื่องภาระงานของเจ้าหน้าที่ฝายต่างๆไม่ตรงกันในหลายเรื่อง  ซึ่งความเข้าใจไม่ตรงกันนี้อาจเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงานให้บรรลุผลตามความคาดหมาย

               

ในความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายร่วมกัน  ปัญหาสำคัญในการทำงานที่มีอันดับสูงสุด 5 อันดับมีปัญหาเรื่องสถานที่ไม่เพียงพอเป็น 3 อันดับแรก  เรื่องความยุติธรรมในการเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นอันดับ 4  และความรวดเร็วและทั่วถึงของการแจ้งข่าวสารเป็นอันดับ 5

               

การประมวลผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้  คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะในการพัฒนากระบวนการทำงานของบุคลากรสายสนับสนุนวิชาการและช่วยวิชาการคณะมนุษยศาสตร์  โดยเน้นการตอบสนองปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตในการทำงานโดยเฉพาะเรื่องสถานที่  และการพัฒนาเพิ่มพูนความรู้ที่เกี่ยวกับการทำงาน  และการระบุภาระงานที่ชัดเจน  เป็นที่ยอมรับและเข้าใจตรงกันระหว่างอาจารย์ผู้มอบหมายงานและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ  ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการประเมินการเลื่อนขั้นเงินเดือนที่ยุติธรรม