ภาษาศาสตร์คืออะไร

สถานการณ์ที่ผู้ที่เรียนภาษาศาสตร์ (Linguistics) ทุกคนเคยประสบมาแล้วทั้งนั้นก็คือ เมื่อมีใครสักคนถามเราว่า “เรียนอะไรอยู่” แล้วเราตอบไปตรงๆว่า “เรียนภาษาศาสตร์” เราก็จะได้รับคำถามย้อนมาว่า “เรียนภาษาอะไรล่ะ”

เหตุที่เราได้รับคำถามย้อนมาว่าเราเรียนภาษาอะไรก็เพราะคู่สนทนาของเราคิดว่าการเรียนภาษาศาสตร์ก็คือการเรียนภาษา มีการท่องศัพท์ แต่งประโยค หัดออกเสียง ฝึกบทสนทนา ฯลฯ เหมือนเวลาที่เราเรียนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศส ฯลฯ ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว การเรียนภาษากับการเรียนภาษาศาสตร์ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

ถ้าเราพยายามจะตอบกลับไปสั้นๆว่าเรา “ไม่ได้เรียนภาษาอะไรหรอก เรียนภาษาศาสตร์น่ะ” คู่สนทนาของเราก็มักจะงุนงง หรืออาจจะพาลคิดไปว่าเราตอบแบบกำปั้นทุบดิน แต่ถ้าเราแก้ปัญหาด้วยการพยายามอธิบายว่าภาษาศาสตร์คืออะไร ต่างกับการเรียนภาษาทั่วๆไปอย่างไร เราก็จะประสบปัญหาอีกว่า การอธิบายด้วยถ้อยคำ 2-3 ประโยคว่าภาษาศาสตร์คืออะไรให้คนที่ไม่เคยสัมผัสกับภาษาศาสตร์เลยเข้าใจได้ชัดเจนนั้นเป็นเรื่องยากมาก

ในภาษาไทยนั้นคำว่า “ภาษา” กับคำว่า “ภาษาศาสตร์” เป็นคำที่สะกดคล้ายกันมาก แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันอยู่มากพอสมควรในเชิงความหมาย แต่ก็พบว่าคนส่วนมากสับสนระหว่างคำทั้งสองนี้ ตัวอย่างเช่นในร้านหนังสือบางร้าน ติดป้ายว่า “ภาษาศาสตร์” ให้กับหนังสือในหมวด “ภาษา” ทั้งๆที่ในร้านนั้นหนังสือหมวดนั้นส่วนมากได้แก่ตำราไวยากรณ์ พจนานุกรม ตำราเรียนภาษา ซึ่งเน้นไปที่การใช้ภาษาและแทบจะไม่มีหนังสือที่เกี่ยวข้องกับภาษาศาสตร์เลย

และจากประสบการณ์ของผู้เขียนซึ่งเป็นอาจารย์ในภาควิชาภาษาศาสตร์ พบว่าทุกปีจะต้องมีคนจำนวนหนึ่งซึ่งมาสมัครเข้าเรียนในระดับปริญญาโทสาขาภาษาศาสตร์โดยที่ไม่เข้าใจว่าภาษาศาสตร์คืออะไร บุคคลเหล่านี้เข้าใจว่าการเรียนภาษาศาสตร์คือการเรียนภาษาอังกฤษ (ซึ่งเป็นภาษาต่างประเทศที่ใช้กันกว้างขวางที่สุดในประเทศไทย) หรือไม่ก็เข้าใจว่าการเรียนภาษาศาสตร์คือการเรียนภาษาหลายๆภาษา

ในเมื่อภาษาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่คนส่วนมากไม่รู้จักหรือไม่คุ้นเคย สิ่งที่ผู้เริ่มเรียนภาษาศาสตร์ต้องเข้าใจเสียก่อนที่จะเริ่มเรียนหัวข้อที่เป็นเนื้อหาวิชาทางภาษาศาสตร์ก็คือ “ ภาษาศาสตร์คืออะไร ” เพื่อที่จะเตรียมตัวและปรับมุมมองให้พร้อมสำหรับสาขาวิชานี้

เมื่อทราบว่าภาษาศาสตร์คืออะไรแล้ว ขั้นต่อมาก็ควรจะทราบว่า “ เราจะนำภาษาศาสตร์ไปใช้ทำอะไรได้บ้าง ” เพื่อที่เราจะได้มีเป้าหมายในการเรียน เรียนแล้วนำไปใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งช่วยให้เรากระตือรือร้นที่จะเรียนมากขึ้น ( เพราะคงไม่มีใครกระตือตือร้นในสิ่งที่ไร้ประโยชน์หรือไม่เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตเราเลย )

ในบทที่ 1 นี้เราจะทำความเข้าใจกับภาษาศาสตร์โดยเปรียบเทียบการเรียนภาษาศาสตร์กับการเรียนภาษา ลักษณะสำคัญของภาษาศาสตร์คือ เป็นเชิงวรรณนา (descriptive) เป็นวัตถุวิสัย (objective) เป็นสากลลักษณ์ (universal) และ เป็นวิทยาศาสตร์ (scientific)

ความเป็นเชิงวรรณนาและความเป็นวัตถุวิสัย

ความเป็นเชิงวรรณนา (descriptive) ตรงกันข้ามกับความเป็นเชิงบัญญัติ (prescriptive) เชิงวรรณนาหมายถึงการกล่าวบรรยายหรือพรรณาสิ่งต่างๆไปตามที่เป็นจริงๆ โดยไม่มีการชี้นำว่าสิ่งนั้นควรจะเป็นอย่างไร

เวลาที่เราเรียนภาษาทั่วๆไป ลักษณะของการเรียนภาษามักจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือเป็นไปในเชิงบัญญัติ หมายความว่ามีการบัญญัติไว้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี เราจะได้รับการชี้นำว่าเราควรพูดอย่างไร เขียนอย่างไร ใช้สำนวนอย่างไร เปลี่ยนรูปคำนามอย่างไร ใช้ลักษณนามอย่างไร สะกดคำอย่างไร เรียงประโยคอย่างไร ฯลฯ แสดงว่าในมุมมองเช่นนี้จะต้องมีลักษณะของภาษาที่ “ดี” “สวยงาม” “ถูกต้อง” อยู่แล้วเป็นอุดมคติ เมื่อเราใช้ภาษาไม่ตรงตามอุดมคตินี้ เราก็จะได้รับการวิจารณ์ว่าภาษาของเรา “ไม่ดี” “ไม่งาม” “ไม่ถูกต้อง” แล้วก็ได้รับการชี้นำต่อมาว่าเราควรจะใช้ภาษาอย่างไร

การมองสิ่งต่างๆตามที่มันเป็นจริงๆโดยไม่เอาความรู้สึกส่วนตัว (หรือแม้แต่ความรู้สึกของคนส่วนรวมในสังคม) มาตัดสินคุณค่าว่าดีหรือไม่ดี ก็คือวัตถุวิสัย (objective) ตรงกันข้ามกับการมองสิ่งต่างๆโดยมีการตัดสินคุณค่าตามความรู้สึกส่วนตัวที่เรียกว่า อัตวิสัย (subjective)

สาเหตุที่การเรียนภาษามักจะเป็นไปในเชิงบัญญัติก็เพราะ เวลาที่เรียนภาษาเรามักเรียนไปเพื่อนำภาษานั้นๆไปใช้สื่อสารโดยตรง อาจจะเป็นฟัง พูด อ่าน เขียน ทักษะใดทักษะหนึ่งหรือหลายทักษะรวมกัน ทำให้จำเป็นต้องมีการชี้นำให้เราใช้ภาษาในมาตรฐานที่สังคมกำหนดและยอมรับว่าเหมาะสม

การเรียนภาษาศาสตร์แตกต่างจากการเรียนภาษา ภาษาศาสตร์เป็นการเรียนที่ไม่ได้เน้นที่จะนำภาษาไปใช้ฟัง พูด อ่าน หรือเขียนโดยตรง แต่เป็นการเรียนหรือเรียนรู้ที่จะวิเคราะห์ให้ทราบว่าปรากฏการณ์ต่างๆในภาษามีอะไรบ้าง ทำไมเป็นเช่นนั้น ลักษณะของภาษาต่างๆเป็นอย่างไร นักภาษาศาสตร์จะกล่าวถึงลักษณะและข้อมูลเหล่านี้ (เชิงวรรณนา) อย่างเป็นกลางโดยไม่ตีความว่าดีหรือไม่ดี สวยหรือไม่สวย ควรหรือไม่ควร (วัตถุวิสัย)


ตัวอย่างเช่น ในหัวข้อเดียวกันคือ “เสียง ร. ในภาษาไทย” การเรียนภาษามักเป็นไปในเชิงชี้นำว่าการออกเสียงเป็น ร. ถูกต้อง แต่ออกเสียงเป็น ล. ไม่ถูกต้อง และพยายามให้ผู้เรียนฝึกฝนเพื่อออกเสียง ร. ให้ชัดเจน

แต่ถ้าเป็นการเรียนในเชิงภาษาศาสตร์ หัวข้อ “เสียง ร. ในภาษาไทย” จะเป็นไปในทางบรรยายข้อเท็จจริง โดยที่ข้อเท็จจริงนั้นอาจจะเกี่ยวข้องกับเสียงดังกล่าวในภาษาโดยตรง หรืออาจจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่นๆรอบๆตัวภาษาก็ได้ ดังนั้นหัวข้อนี้จึงกว้างมาก และสามารถเลือกศึกษาได้หลายทางตามความสนใจ เช่น

นักภาษาศาสตร์จะศึกษาค้นหาคำตอบเหล่านี้โดยที่ไม่ตีค่าว่า ร. เป็นเสียงที่ถูก ล. เป็นเสียงที่ผิด และไม่ชี้นำว่าเราควรจะออกเสียงอย่างไร

ความเป็นวิทยาศาสตร์

ภาษาศาสตร์มักจะได้รับการนิยามว่า “เป็นวิทยาศาสตร์ของภาษา” หรือ “การศึกษาภาษาในเชิงวิทยาศาสตร์” ซึ่งก็หมายความว่าเป็นการศึกษาภาษาอย่างมีเหตุมีผล มีการพิสูจน์ที่แน่ชัด มีระบบระเบียบแบบวิทยาศาสตร์ และหมายรวมไปถึงความเป็นวัตถุวิสัยและเป็นเชิงพรรรณาตามที่กล่าวไปแล้วด้วย

สมมุติว่านักภาษาศาสตร์ผู้หนึ่งจะศึกษาการสะกดคำภาษาอังกฤษของนักเรียนไทยว่านักเรียนไทยมักจะสะกดตามแบบอเมริกัน (เช่น color) หรือแบบอังกฤษ (เช่น colour) นักภาษาศาสตร์ผู้นั้นจำเป็นต้องมีการวางแผนเพื่อเก็บข้อมูลและสรุปข้อมูลที่ได้อย่างเป็นระบบทำนองเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์ทำการทดลองในห้องปฏิบัติการ

นักภาษาศาสตร์ผู้นั้นไม่สามารถเดาคำตอบได้ทันทีเพราะนั่นคือการคิดฝันเอาเอง แต่จะต้องออกเก็บข้อมูล โดยคำนึงถึงว่าจะเก็บข้อมูลจากใคร ต้องนิยามไว้ก่อนว่าอายุเท่าไรถึงเท่าไรจึงจะเรียกว่า “เด็ก” เด็กในที่นี้ถ้าจะนิยามว่าเป็นเด็กไทยจะหมายถึงเชื้อชาติไทยหรือสัญชาติไทย เด็กที่เรียนโรงเรียนนานาชาติถือเป็นเด็กไทยไหม เด็กควรจะเป็นหญิงหรือชาย จะเก็บข้อมูลจากกี่โรงเรียน จะเก็บอย่างไร ใช้การสัมภาษณ์หรือใช้แบบสอบถามหรือใช้วิธีอื่น ฯลฯ และเมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็ตองสรุปผลให้เป็นระบบ ให้ชัดเจนเหมือนนักวิทยาศาสตร์ เช่นจะต้องรายงานผลให้ชัดเจนว่าเด็กไทยกลุ่มใดนิยมสะกดคำแบบใดมากกว่าอีกแบบอยู่ร้อยละเท่าไร เพราะตัวเลขที่ได้เป็นสิ่งที่เป็นวัตถุวิสัยที่ใครๆก็ยอมรับและเข้าใจตรงกัน นักภาษาศาสตร์จะไม่รายงานผลเพียงว่า “เด็กไทยนิยมเขียนแบบอเมริกันมากกว่าแบบอังกฤษอยู่พอสมควร” เพราะ “พอสมควร” มีค่าไม่แน่นอน

นอกจากนั้นต้องไม่ลืมว่านักภาษาศาสตร์จะไม่ตีค่าว่าการสะกดแบบใดดีกว่ากันหรือเลวกว่ากัน และไม่ใช่หน้าที่ของนักภาษาศาสตร์ที่จะชี้นำว่าควรจะสะกดแบบใด

ในการเรียนภาษาศาสตร์เบื้องต้นนั้น ผู้เรียนอาจจะยังไม่ได้วางแผนออกเก็บข้อมูลหรือวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆมากเหมือนกับนักภาษาศาสตร์มืออาชีพหรือผู้เรียนภาษาศาสตร์ขั้นสูง เพราะการจะทำเช่นนั้นได้ผู้เรียนต้องมีความรู้พื้นฐานมาพอสมควร และจะต้องมีเวลาทุ่มเทอย่างจริงจัง ผู้เรียนระดับต้นมักจะเรียนรู้ในสิ่งที่มีผู้อื่นวิเคราะห์ไว้ให้แล้วเป็นส่วนมาก แต่ผู้เรียนพึงสังเกตว่าความรู้ทางภาษาศาสตร์เหล่านั้นล้วนแต่ผ่านการรวบรวม ค้นคว้า และสรุปมาแล้วอย่างเป็นระบบในเชิงวิทยาศาสตร์

ความเป็นสากลลักษณ์

นักภาษาศาสตร์มักจะสนใจปรากฏการณ์หรือลักษณะทางภาษาทั่วๆไปโดยรวมมากกว่าจะเน้นไปที่ภาษาใดภาษาหนึ่งโดยเฉพาะ ตรงกันข้ามกับเวลาเราเรียนภาษาใดภาษาหนึ่งที่เราจะมุ่งไปที่ภาษานั้นเพียงภาษาเดียว

ความแตกต่างนี้มาจากการที่เราเรียนภาษาไปเพื่อฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาใดภาษาหนึ่ง หากเราสื่อสารภาษานั้นได้ ก็ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียน เราจึงไม่จำเป็นว่าจะต้องเปรียบเทียบภาษานั้นๆกับภาษาอื่น เราไม่จำเป็นต้องเข้าใจประวัติความเป็นมาของปรากฏการณ์ในภาษาเราก็สามารถเป็นผู้ใช้ภาษาอย่างคล่องแคล่วได้ เราอาจจะศึกษาวรรณกรรม อารยธรรม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับภาษานั้นๆบ้าง เพื่อช่วยให้เราเข้าใจและใช้ภาษานั้นได้ดีขึ้นในระดับสูง แต่บางครั้งในระดับที่สูงมากๆเราอาจจะต้องเรียนภาษาอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับภาษานั้นด้วย (เช่นเรียนภาษาบาลีเสริมการเรียนภาษาไทยขั้นสูง เรียนภาษาละตินเสริมการเรียนภาษาอังกฤษขั้นสูง) แต่ทั้งหมดที่เราเรียนนี้ก็มีเป้าหมายเพื่อให้ใช้ภาษาที่เราเรียนเป็นหลักให้ดีขึ้น

การศึกษาในเชิงภาษาศาสตร์มักจะเน้นในจุดที่ตรงกันข้ามกับการเรียนภาษา นักภาษาศาสตร์มักจะสนใจปรากฏการณ์หรือลักษณะบางอย่างของภาษาอย่างเป็นสากล เช่น

เมื่อนักภาษาศาสตร์สงสัยสิ่งใด นักภาษาศาสตร์ก็จะค้นคว้าข้อมูล นักภาษาศาสตร์อาจจะนำข้อมูลของภาษาใดก็ได้มาศึกษา ตราบใดที่ภาษานั้นมีลักษณะที่นักภาษาศาสตร์สนใจและมีประโยชน์ทำให้นักภาษาศาสตร์หาคำตอบที่ตนอยากรู้ได้ เช่น หากนักภาษาศาสตร์มีความสนใจเจาะลึกลงไปว่าเด็กทารกเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับเอกพจน์-พหูพจน์ในภาษาเมื่ออายุประมาณกี่เดือน นักภาษาศาสตร์ผู้นั้นก็ย่อมต้องศึกษาภาษาที่มีเอกพจน์-พหูพจน์ในภาษา ต้องค้นคว้าระบบเอกพจน์-พหูพจน์ในภาษานั้น แล้วก็ต้องสังเกตการณ์เด็กทารกที่กำลังหัดฟังหัดพูดภาษานั้นๆ เช่นอาจจะเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ฯลฯ หรือภาษาอื่นๆตามสะดวก อาจจะศึกษาภาษาเดียวหรือมากกว่าก็ได้ แต่นักภาษาศาสตร์คงไม่เลือกสังเกตการณ์ทารกไทย ทารกจีน เพราะภาษาจีนและภาษาไทยไม่มีพจน์

จะเห็นได้ว่านักภาษาศาสตร์มักจะมุ่งความสนใจไปที่ปรากฏการณ์ในภาษาเป็นหลัก ส่วนภาษาที่ใช้ศึกษาเพื่อหาคำตอบจะเป็นภาษาใดนั้นเป็นเรื่องที่รองลงมา ในขณะที่ผู้เรียนภาษาทั่วๆไปจะเน้นไปที่ภาษาที่ตนกำลังเรียนเป็นหลัก แล้วศึกษาปรากฏการณ์ในภาษาหรือเรื่องอื่นๆเกี่ยวกับภาษานั้นๆเพื่อให้ตนใช้ภาษาที่กำลังเรียนอยู่ได้ดีขึ้นเป็นเรื่องรองลงมา

ประโยชน์ของภาษาศาสตร์

การจะกล่าวถึงประโยชน์และการประยุกต์ใช้ทุกๆด้านของภาษาศาสตร์นั้น ผู้เรียนจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับภาษาศาสตร์เสียก่อน ดังนั้นในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะประโยชน์อย่างกว้างๆของภาษาศาสตร์ และจะกล่าวถึงประโยชน์และการนำไปใช้ด้านอื่นๆแทรกไปกับเนื้อหาในหัวข้อต่อๆไป

1. ภาษาศาสตร์ฝึกให้ผู้เรียนใจกว้าง มีใจเป็นกลาง

ภาษาศาสตร์มองภาษาอย่างเป็นวัตถุวิสัย ไม่ตัดสินความถูก-ผิด ยอมรับภาษาทุกแบบอย่างที่มันเป็น เมื่อผู้เรียนภาษาได้รับการฝึกฝนให้มองภาษาในมุมมองเช่นนี้ ย่อมทำให้ผู้เรียนภาษาศาสตร์ได้รับการฝึกให้มีใจเป็นกลางกับภาษา ใจกว้างยอมรับความแตกต่างที่มีระหว่างภาษาแบบต่างๆ รวมทั้งยอมรับกลุ่มคนที่ใช้ภาษาเหล่านั้นด้วย

ตัวอย่างเช่น คนจำนวนมากอาจจะมองว่าภาษาถิ่นของจังหวัดสุพรรณบุรี “เหน่อ” มีทัศนคติทางลบกับภาษาไทยสำเนียงนี้ จนถึงกับนำมาพูดล้อเลียนกันเป็นที่สนุกสนาน ลามไปถึงความคิดว่าใครที่พูดภาษาแบบนั้นก็ได้รับการตีความว่าเป็นคนที่เชย ไม่ใช่คนชั้นสูง ฯลฯ

สำหรับนักภาษาศาสตร์แล้ว ภาษาถิ่นแต่ละถิ่นก็มีลักษณะเฉพาะตัว เราไม่เคยชินกับภาษาถิ่นไหน เราก็ว่าภาษานั้นฟังเหน่อ ทุกภาษามีคุณค่าเท่ากัน หากเมืองหลวงของประเทศไทยตั้งอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรีไม่ใช่กรุงเทพมหานคร ภาษาถิ่นแบบสุพรรณย่อมเป็นภาษาไทยมาตรฐาน แล้วภาษาถิ่นแบบกรุงเทพก็คงเป็นภาษาที่เหน่อ การมองว่าภาษาใดเหน่อหรือไม่เหน่อ เพราะหรือไม่เพราะ สละสลวยหรือไม่สละสลวยจึงเป็นการตัดสินแบบอัตวิสัย ไม่ใช่วัตถุวิสัย


เมื่อผู้เรียนภาษาศาสตร์ได้รับการฝึกให้มีมุมมองที่เป็นกลางต่อภาษาและผู้พูดภาษาแล้ว ก็ย่อมมีแนวโน้มว่าจะสามารถมองสิ่งต่างๆในโลกอย่างเป็นกลางและใจกว้างมากขึ้นได้ อันจะส่งผลดีต่อการศึกษาหาความรู้ด้านอื่นๆและการดำรงชีวิตในสังคมด้วย

2. ภาษาศาสตร์ฝึกให้ผู้เรียนมีความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลและเป็นระบบ

ความเป็นวิทยาศาสตร์ของภาษาศาสตร์ส่งผลให้ผู้เรียนได้รับการฝึกให้คิดและทำความเข้าใจภาษาในแง่มุมใหม่ นักภาษาศาสตร์มีแนวโน้มที่จะจัดระบบและสรุปกฏเกณฑ์ต่างๆของภาษามากกว่าที่จะท่องจำอย่างไร้ระบบ นอกจากนั้นแล้วการที่นักภาษาศาสตร์สนใจที่จะศึกษาปรากฏการณ์ภาษาต่างๆโดยรวมก็ทำให้นักภาษาศาสตร์ได้รับการฝึกให้เปรียบเทียบหาความเหมือนความต่างระหว่างภาษา

ความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลเป็นระบบและชัดเจนแบบวิทยาศาสตร์ที่ผู้เรียนภาษาศาสตร์ได้รับการฝึกฝนขึ้นมานั้น หากผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนวิชาอื่นหรือในชีวิตประจำวันก็ย่อมทำให้มีประโยชน์ด้านอื่นๆอีกมากมาย

3. ภาษาศาสตร์ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ภาษาอื่นๆได้ง่ายและลึกซึ้งขึ้น

ถึงแม้ว่าภาษาศาสตร์ไม่ได้มุ่งเน้นโดยตรงที่จะเรียนภาษาใดภาษาหนึ่งไปเพื่อฟัง พูด อ่าน เขียน แต่ภาษาศาสตร์ก็ทำให้ผู้เรียนได้เปรียบอย่างมากในการเรียนภาษา

ผู้เรียนภาษาศาสตร์มีแนวโน้มที่จะทำความเข้าใจและจัดระบบมากกว่าท่องจำ ดังนั้นในขณะที่ผู้ไม่ได้เรียนภาษาศาสตร์ท่องจำสิ่งต่างๆ ผู้เรียนภาษาศาสตร์จะจัดระบบความรู้เหล่านั้นด้วยตัวเองด้วยความเคยชิน ทำให้เข้าใจได้ลึกซึ้งขึ้นและจดจำได้ดีขึ้น โดยที่บางครั้งผู้สอนอาจไม่ได้สรุปกฎต่างๆให้ แต่ผู้เรียนรู้ภาษาศาสตร์มาแล้วจะสามารถสรุปกฎได้ด้วยตัวเอง

4. ความรู้ภาษาอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะประยุกต์ใช้กับงานบางอย่าง

สมมุติว่าเราต้องสอนชาวต่างชาติคนหนึ่งให้พูดภาษาไทย และปรากฏว่าเขาไม่สามารถออกเสียงพยัญชนะบางตัวในภาษาไทยได้ หากเรามีความรู้เพียงการฟังพูดอ่านเขียนภาษาไทย เราย่อมไม่มีหนทางอื่นในการแก้ปัญหานอกจากพูดให้ชาวต่างชาตินั้นฟังไปเรื่อยๆ ให้เขาออกเสียงมาเรื่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆจนกว่าจะออกเสียงได้ ซึ่งคงจะใช้เวลานานพอสมควร และในขณะที่เขาออกเสียงแล้วผิดนั้น เราก็ไม่สามารถบอกเขาได้ว่าทำไมจึงผิด และจะทำอย่างไรจึงจะออกเสียงที่ถูกต้องได้

ด้วยความรู้ด้านสัทศาสตร์ (phonetics) ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของภาษาศาสตร์ เราจะได้เรียนรู้ว่าการออกเสียงของมนุษย์ต้องใช้อวัยวะส่วนไหนอย่างไร เมื่อชาวต่างชาติออกเสียงผิด เราสามารถบอกเขาได้ว่าเขาควรจะบังคับอวัยวะในช่องปากของเขาอย่างไรจึงจะได้เสียงที่ถูกต้อง (เช่นเราอาจจะบอกว่า ให้ขยับลิ้นมาข้างหน้าอีกนิดให้ปลายลิ้นแตะด้านหลังฟัน) วิธีนี้ทำให้การแก้ไขการออกเสียงเป็นไปได้รวดเร็วกว่าการฝึกฝนแต่เพียงอย่างเดียว

ความรู้สาขาอื่นๆของภาษาศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์กับงานอื่นๆได้อีกมากไม่เฉพาะแต่ความรู้ในเชิงสัทศาสตร์ที่กล่าวมาเท่านั้น เช่นในภาษาศาสตร์จิตวิทยา (psycholinguistics) มีเนื้อหาเกี่ยวกับกลไกขั้นตอนการเรียนรู้ภาษาของมนุษย์ ถ้าเราไม่มีความรู้ในด้านนี้เลย เราก็จะไม่ทราบว่าเวลาที่เราจะสร้างหลักสูตรเพื่อสอนภาษาเราจะต้องวางหลักสูตรให้สอนอะไร อย่างไร ในช่วงเวลาใด จึงจะเหมาะสมที่สุด แม้ว่าเราจะสามารถหาครูผู้สอนที่มีความสามารถมากทางภาษามาสอน แต่ถ้าครูผู้สอนไม่มีความรู้เลยว่ากลไกการเรียนรู้ภาษาของมนุษย์เป็นอย่างไร ครูย่อมไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียนได้มากเท่าที่ควร


นำมาจากบทที่ 1 ของหนังสือประกอบการเรียนวิชา 01372212 ภาษาศาสตร์เบื้องต้น

จรัลวิไล จรูญโรจน์,ม.ล. 2552. ภาษาศาสตร์เบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.