ความเป็นมาของโครงการ


เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าในอนาคตการแข่งขันในโลกจะทวีความรุนแรงมากขึ้นและรูปแบบของการแข่งขันจะเปลี่ยนแปลงไปจากการแข่งขันด้วยกำลังกายมาเป็นการแข่งขันด้วยกำลังปัญญา และสังคมโลกจะเปลี่ยนไปสู่สังคมที่ยืนอยู่บนฐานของความรู้ ( Knowledge based Society ) ระบบเศรษฐกิจจะกลายเป็นเศรษฐกิจฐานความรู้ ( Knowledge based Economy ) ถ้าประเทศหรือสังคมไหนมีความอ่อนด้อยทางปัญญาหรือมีความรู้น้อยก็จะตกเป็นเบี้ยล่างของประเทศหรือสังคมอื่น ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกประเทศต้องพัฒนาให้คนในสังคมของตนมีปัญญา มีความรู้ และความฉลาดเฉลียว รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

รัฐบาลไทยเองให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก และพยายามส่งเสริมอย่างจริงจังให้เกิดการ เรียนรู้อย่างต่อเนื่องในทุกระดับของสังคมไทย อย่างไรก็ตามการทำให้สังคมกลายเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้นั้นยังไม่ประสบความสำเร็จมากนักทั้งนี้เป็นผลมาจากหลายปัจจัย ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นคือการขาดแหล่งศึกษาหาความรู้หรือห้องสมุดที่มีคุณภาพ ห้องสมุดเป็นแหล่งรวบรวมและจัดระเบียบทรัพยากรสารสนเทศหรือความรู้ต่างๆ ให้อยู่ในรูปแบบที่ผู้ใช้สามารถใช้ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว รวมถึงจัดเตรียมสถานที่ เครื่องไม้เครื่องมือ และ อุปกรณ์ต่างๆ ที่เอื้อให้การเรียนรู้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง หรืออาจกล่าวได้ว่าห้องสมุดคือ “ ศูนย์กลางการเรียนรู้ ” นั่นเอง อย่างไรก็ตามเมื่อมองลงไปในพื้นที่หรือชุมชนด้อยโอกาสต่างๆ จะพบว่ากิจกรรมด้านห้องสมุดยังมีอยู่จำกัดมาก ชุมชนจำนวนมากไม่ได้ดำเนินกิจกรรมด้านห้องสมุดเลย และ ที่มีอยู่แล้วซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่ในโรงเรียนก็ยังไม่สามารถทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพได้ เนื่องจากขาดแคลนหนังสือ สื่อการเรียนรู้ อุปกรณ์ และเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ และที่สำคัญ คือขาดงบประมาณในการจัดหาทรัพยากรห้องสมุดดังกล่าว เมื่อขาดแหล่งข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ของชุมชนก็ทำให้การส่งเสริมการเรียนรู้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้นการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งและพัฒนาห้องสมุดขึ้นในโรงเรียนและชุมชนต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการอย่างยิ่ง

สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตระหนักถึงความจริงในข้อนี้และเห็นว่าสามารถพัฒนากิจกรรมห้องสมุดให้เกิดและพัฒนาขึ้นในชุมชนต่างๆได้แม้ว่าจะมีงบประมาณจำกัด ทั้งนี้เนื่องจากหนังสือและสื่อการเรียนรู้ต่างๆเป็นทรัพยากรที่สามารถใช้ได้หลายครั้งเมื่อผู้ใช้คนหนึ่งได้ใช้แล้วก็อาจหมดคุณค่าสำหรับคนๆนั้นและอาจถูกทิ้งหรือขายเป็นเศษกระดาษหรือขยะ ในความเป็นจริงแล้วทรัพยากรเหล่านี้ยังมีคุณค่ากับคนอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์โดยเฉพาะคนด้อยโอกาส ซึ่งไม่มีปัญญาจะซื้อหาหนังสือและทรัพยากรเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ ดังนั้นหากทรัพยากรที่ถูกใช้แล้วเหล่านี้ถูกส่งต่อไปให้ผู้ด้อยโอกาสแทนที่จะถูกทิ้งเป็นเศษกระดาษย่อมเป็นการเพิ่มคุณค่าแก่ทรัพยากรดังกล่าวขณะเดียวกันก็ช่วยทำให้ผู้ด้อยโอกาสได้มีโอกาสเรียนรู้มากขึ้นจากทรัพยากรที่ถูกใช้แล้วเหล่านี้ อย่างไรก็ตามเมื่อถามผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรว่าต้องการบริจาคทรัพยากรที่ใช้แล้วหรือต้องการขายเป็นเศษกระดาษ ? คำตอบส่วนใหญ่ที่ได้รับคือต้องการบริจาคแต่ไม่รู้ว่าจะบริจาคให้ใคร ขณะที่ผู้ด้อยโอกาสเองก็ต้องการรับบริจาคแต่ก็ไม่รู้ว่าจะรับบริจาคจากใคร เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว สำนักหอสมุดได้จัดทำ “ โครงการห้องสมุดชุมชน ” เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2545 เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมทรัพยากรที่ใช้แล้วนำมาคัดแยกและกระจายออกไปสู่ห้องสมุดในชุมชนด้อยโอกาสต่างๆรวมถึงให้คำแนะนำในด้านการบริหารจัดการแก่ห้องสมุดเหล่านี้ด้วยเพื่อให้การดำเนินงานโครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในระยะเริ่มต้นสำนักหอสมุดได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้น1ชุดเรียกว่า“คณะทำงานห้องสมุดชุมชน”ต่อมาคณะทำงานชุดนี้ได้นำเสนอ “ โครงการห้องสมุดชุมชน ” ต่อมหาวิทยาลัยเพื่อร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 60 ปี ของมหาวิทยาลัย และได้รับอนุมัติให้ดำเนินการ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2546 จากนั้นได้ร่วมกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมห้องสมุดชุมชนในโรงเรียนและชุมชนด้อยโอกาสต่างๆอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน