ประวัติ

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ถือกำเนิดมาพร้อมๆ กับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2486 โดยในระยะแรกได้รับการช่วยเหลือจากต่างประเทศ และในปี พ.ศ. 2491 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้แนะนำให้รวมห้องสมุดของมหาวิทยาลัยซึ่งในขณะนั้นมีฐานะเป็นกรมหนึ่งของกระทรวงเกษตรและห้องสมุดของกรมเกษตรเข้าด้วยกัน

พ.ศ.2494
ได้รวมห้องสมุดของมหาวิทยาลัยและห้องสมุดของกรมเกษตร เรียกว่า “ห้องสมุดกลาง” องค์การความร่วมมือทางการบริหารระหว่างประเทศ (ICA) ได้ส่งนางมาร์เบล ไรท์ มาช่วยจัดห้องสมุดภารกิจสำคัญที่นางไรท์ได้ดำเนินการ คือ การนำระบบการจัดหมู่หนังสือของรัฐสภาอเมริกัน (Library of Congress) มาใช้ในการจัดหนังสือของห้องสมุดกลางบางเขน ซึ่งเป็นการวางรากฐานของการจัดหมวดหมู่หนังสือในระบบนี้ อาจกล่าวได้ว่าห้องสมุดกลางบางเขนเป็นห้องสมุดแห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้ระบบนี้

พ.ศ.2496
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารห้องสมุดกลางแห่งใหม่ที่ตั้งอยู่หลังตึกพืชพรรณเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2496 และห้องสมุดกลางได้รับการยกฐานะเป็นแผนกห้องสมุด

พ.ศ.2499
ห้องสมุดกลาง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีการแบ่งส่วนราชการอย่างเป็นทางการเป็นแผนกห้องสมุด สำนักงานเลขานุการกรม กรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พ.ศ. 2508
ได้ย้ายห้องสมุดกลางมาอยู่ที่อาคารเอกเทศสูง 3 ชั้น (ตั้งอยู่หลังอนุสาวรีย์สามบูรพาจารย์) มีพื้นที่ 1,638 ตารางเมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2508 และมีพิธีเปิดในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2508 โดยนายกรัฐมนตรี จอมพลถนอม กิตติขจร ใช้ชื่ออาคารว่า หอสมุดกลาง

พ.ศ. 2515 -2518
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับงบประมาณจากโครงการเงินกู้ธนาคารโลกเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาก่อสร้างอาคารหอสมุดกลางหลังใหม่ทั้ง 2 วิทยาเขต (วิทยาเขตบางเขนและวิทยาเขตกำแพงแสน) นอกจากนี้ยังได้รับงบประมาณการพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศครุภัณฑ์ตลอดจนการพัฒนาบุคลากร ในการวางแผนการดำเนินการพัฒนามีผู้ที่มีบทบาทสำคัญนอกเหนือจาก ผศ. ดรุณา สมบูรณกุล ผู้บริหารในขณะนั้นแล้วยังมี Dr. Dorothy Paker ผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ มาช่วยวางแผนและเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาห้องสมุดตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. – 31 พ.ค. 2517  และ Mr. J.R. Blanchard อดีตผู้อำนวยการห้องสมุด Shields Library แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองเดวิสสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย. 2517- 24 ก.พ. 2518

พ.ศ. 2518
มหาวิทยาลัยได้จัดสรรทุนฝึกงานตามโครงการเงินกู้ธนาคารโลกโดยใช้ระยะเวลาฝึกงาน 6 เดือน บรรณารักษ์ที่ได้รับทุนคือ นางพิบูลศิลป์ วัฑฒนะพงศ์ ฝึกงานด้านเอกสารและวารสาร และ นางสมบูรณ์ ไทรแจ่มจันทร์ ฝึกงานด้านวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองเดวิส สหรัฐอเมริกา

พ.ศ. 2520
หอสมุดกลางได้รับการยกฐานะจาก “แผนกห้องสมุด” เป็น “สำนักหอสมุด” มีฐานะเทียบเท่าคณะ สำนัก สถาบันของมหาวิทยาลัยโดยมี ผศ.ดรุณา สมบูรณกุล เป็นผู้อำนวยการคนแรกของสำนักหอสมุด การบริหารงานของสำนักหอสมุดแบ่งงานออกเป็น 5 งาน คือ งานบริหารสำนักงาน งานเทคนิค งานบริการผู้ใช้ห้องสมุด งานวารสารและเอกสาร และงานห้องสมุดสาขา โดยได้จัดรูปแบบการบริหารห้องสมุดกลางและห้องสมุดคณะเป็นแบบศูนย์รวม (Centralization)

พ.ศ. 2522
การก่อสร้างอาคารหอสมุดกลางหลังใหม่ทั้ง 2 วิทยาเขต (วิทยาเขตบางเขนและวิทยาเขตกำแพงแสน) ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยโดยอาคารสำนักหอสมุดวิทยาเขตบางเขนได้รับงบประมาณค่าก่อสร้าง จำนวน 28 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2518 สร้างเสร็จในปี 2522 (พื้นที่ใช้สอย 6,700 ตารางเมตร) ส่วนอาคารห้องสมุดวิทยาเขตกำแพงแสนได้รับงบประมาณค่าก่อสร้างจำนวน 12 ล้านบาท เริ่มสัญญาก่อสร้างเมื่อเดือน เมษายน พ.ศ. 2521 สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2522

พ.ศ. 2523
ย้ายห้องสมุดจากอาคารหอสมุดกลาง มายังอาคารหลังใหม่ซึ่งได้รับชื่ออาคารว่า อาคารช่วงเกษตรศิลปการ หรืออาคารสำนักหอสมุดเปิดให้บริการมาถึงปัจจุบัน 13 มีนาคม 2523 ได้รับมอบหมายจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติให้เป็นศูนย์สนเทศทางการเกษตรแห่งชาติ (Thai National AGRIS Centre) เพื่อเป็นศูนย์เครือข่ายความร่วมมือในระบบสารสนเทศเกษตรนานาชาติ (AGRIS FAO) โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก IDRC (International Development Research Center) มีหน้าที่รวบรวมข้อสนเทศด้านการเกษตรและสาขาที่เกี่ยวข้อง และส่งดรรชนีข้อสนเทศเหล่านี้เผยแพร่ในดรรชนีวารสารร่วมกับศูนย์ข้อมูลของประเทศต่างๆ รวม 127 ประเทศ นอกจากเผยแพร่เป็นตัวเล่มแล้วยังเผยแพร่ข้อมูลในรูปซีดีรอมและออนไลน์

พ.ศ. 2524
ศูนย์พัฒนาการวิจัยระหว่างประเทศ (International Development Research Center-IDRC) สนับสนุนให้สำนักหอสมุดจัดตั้งศูนย์สนเทศทางกระบือนานาชาติ (International Buffalo Information Center-IBIC) ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวบรวมเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกระบือและเผยแพร่งานวิจัยแก่นักวิจัยและผู้สนใจทั่วไปและเน้นการให้บริการโดยเฉพาะกระบือที่ใช้งาน (water buffalo หรือ swamp buffalo)

พ.ศ. 2529
สำนักหอสมุดได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานสารนิเทศ สาขาเกษตรศาสตร์มีข่ายงานด้านการเกษตร ซึ่งประกอบด้วย ห้องสมุดศูนย์เอกสารของหน่วยงานในระดับกรม กอง กระทรวง ที่มีบทบาทด้านการเกษตรและสาขาที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานในสถาบันการศึกษาทั้งระดับวิทยาลัย มหาวิทยาลัย มีหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลหรือสารนิเทศจากแหล่งต่างๆ เป็นสื่อกลางและเผยแพร่ข้อมูลด้านการเกษตรและสาขาที่เกี่ยวข้อง

พ.ศ. 2543
เริ่มให้บริการวารสารอิเล็กทรอนิกส์และฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บนเครือข่าย ฐานข้อมูลแรกที่เริ่มจัดหามาให้บริการ คือ ฐานข้อมูล Science Direct

พ.ศ. 2544
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยศูนย์สนเทศทางการเกษตรแห่งชาติ ได้รับการจัดอันดับ 1 ใน 10 ศูนย์เครือข่าย AGRIS ที่มีผลงาน และกิจกรรมเพื่อการพัฒนาสารสนเทศด้านการเกษตรของ AGRIS / FAO

พ.ศ. 2547
ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างอาคารหลังใหม่โดยเชื่อมต่อกับอาคารช่วงเกษตรศิลปการและสร้างเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549

พ.ศ. 2549

  • 19 พ.ค. 2549
    สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารหลังใหม่ (อาคารการเรียนรู้) สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • 5 มิ.ย. 2549
    เปิดให้บริการในอาคารหลังใหม่ (อาคารการเรียนรู้ : Kasetsart University Learning Center – KULC)
  • 12 ต.ค. 2549
    สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่ออาคารการเรียนรู้ว่า “เทพรัตน์วิทยาโชติ” ซึ่งมีความหมายว่า อาคารที่รุ่งเรืองด้วยความรู้อันวิเศษดุจดวงแก้วแห่งเทพ

พ.ศ. 2552
ได้รับงบประมาณในการปรับปรุงอาคารช่วงเกษตรศิลปการ (อาคารเดิม) จำนวน 40 ล้านบาท โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม – ธันวาคม พ.ศ. 2552 (ปรับปรุงแล้วเสร็จและเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552)

  • 9 ก.ย. 2552
    เปิดให้บริการ Research Square พื้นที่นั่งอ่านเพื่อการค้นคว้าวิจัยสำหรับนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา อาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • 15 ธ.ค. 2552
    ได้รับรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชนจากสำนักงาน ก.พ.ร. รางวัลดีเด่นประเภทนวัตกรรมการให้บริการประจำปี 2552

พ.ศ. 2553
สำนักหอสมุดได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการโครงการสร้างขุมกำลังบุคลากรด้านอนุรักษ์พลังงาน (BEAT 2010) หรือ Building Energy Award of Thailand : BEAT ให้เป็น 1 ใน 16 อาคารชั้นนำที่เข้าแข่งขันการอนุรักษ์พลังงานในระยะเวลา 1 ปี (มิถุนายน พ.ศ. 2553 – มิถุนายน พ.ศ. 2554) ผ่านสื่อออนไลน์ และประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง อาคารที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงบางส่วน และเป็นการพัฒนาบุคลากรให้เกิดความตระหนักในการอนุรักษ์พลังงานโดยมีสถาบันวิศวกรรมพลังงานมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษา ผลอันเนื่องมาจากการเข้าร่วมโครงการนี้จึงเป็นโอกาสให้สำนักหอสมุดได้ปรับปรุงอาคารทั้งสองหลังครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอาคารช่วงเกษตรศิลปการที่มีการจัดโซนนิ่งพื้นที่การจัดเก็บสิ่งพิมพ์และพื้นที่นั่งอ่านให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนโคมไฟที่มี Sensor เป็นระบบควบคุมการเปิด – ปิดโคมไฟส่องสว่างเพื่อการประหยัดพลังงาน พร้อมกับการคัดแยกหนังสือเพื่อให้สะดวกต่อการใช้และการบริหารจัดการพื้นที่ในการให้บริการ ได้แก่ การคัดแยกหนังสือที่มีเนื้อหาเน้นวิชาการและหนังสือที่มีเนื้อหาไม่เน้นวิชาการออกจากกันและคัดแยกหนังสือวิชาการตามช่วงปีใหม่และเก่าให้จัดเก็บไว้แยกกัน ได้แก่ หนังสือที่มีการจัดพิมพ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) เป็นต้นไป จัดเก็บและให้บริการที่ชั้น 1 สำหรับหนังสือที่มีปีพิมพ์เก่ากว่าปี ค.ศ. 2001 จัดเก็บและให้บริการที่ชั้น 3

พ.ศ. 2554

  • 4 ม.ค. 2554
    ดำเนินการปรับปรุงอาคารช่วงเกษตรศิลปการในโครงการ BEAT 2010 แล้วเสร็จและเริ่มเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 4 มกราคม 2554
  • 21 ธ.ค. 2554
    สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชน รางวัลมาตรฐานศูนย์บริการร่วม / เคาน์เตอร์บริการประชาชน และรางวัลความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี 2554 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยได้รางวัลชมเชย ประเภทรายกระบวนงาน ในผลงานเรื่อง “การเรียนรู้ด้านเกษตรผ่าน e-Book” ณ หอประชุมกองทัพเรือ

พ.ศ. 2555

  • 27 ม.ค. 2555
    พิธีเปิดห้อง Eco-Library ห้องสมุดรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งแรกของประเทศไทย เป็นห้องสมุดต้นแบบเพื่อการเรียนรู้ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงานผ่านสื่อความรู้ และการสัมผัสจริงจากงานออกแบบสร้างสรรค์บนเส้นทางสีเขียว
  • 2 ก.พ. 2555
    พิธีเปิดบริการคลังหนังสือพระราชนิพนธ์และคลังหนังสือ มก. ณ ชั้น 3 อาคารช่วงเกษตรศิลปการและพิธีเปิดบริการ KU Alumni Service ณ ห้อง Eco-Library ชั้น 1 อาคารช่วงเกษตรศิลปการ
  • 28 ก.พ. 2555
    สำนักหอสมุด เข้ารับโล่เชิดชูเกียรติในฐานะหน่วยงานผู้นำชื่อเสียงมาสู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากการได้รับรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ประจำปี 2554 ณ โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทาราแกรนด์ ลาดพร้าว
  • 8 มี.ค. 2555
    ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดเข้ารับรางวัล BEAT 2010 รางวัลด้านการมีส่วนร่วม กลุ่มอาคารประเภทมหาวิทยาลัย กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ ประธานมอบรางวัลการแข่งขันอาคารอนุรักษ์พลังงาน BEAT AWARDS (Building Energy Awards of Thailand) ในพิธีประกาศผลรางวัลการแข่งขันอาคารอนุรักษ์พลังงานครั้งแรกของประเทศไทย BEAT AWARDS ณ โรงภาพยนตร์สกาล่า สยามสแควร์
  • 5 มิ.ย. 2555
    สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับโล่รางวัล และใบประกาศเกียรติคุณ รางวัลดีเยี่ยมประเภทการพัฒนาปรับปรุงกระบวนงานในโครงการรางวัลคุณภาพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2554 ในผลงานเรื่อง “เพิ่มโอกาสการเรียนรู้ด้วย e-Book ด้านการเกษตร” จัดโดยสำนักประกันคุณภาพ ณ ห้องประชุมกำพลอดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • 14 ก.ย. 2555
    พิธีเปิดห้องสมุดในสวน ณ โถงนิทรรศการชั้น 1 อาคารเทพรัตน์วิทยาโชติ สำนักหอสมุด มก.
  • 18 ธ.ค. 2555
    สำนักหอสมุดได้รับรางวัลคุณภาพจากโครงการรางวัลคุณภาพมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 6 ซึ่งได้รับโล่พร้อมใบประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัล
พ.ศ. 2556
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้สนับสนุนเงินจำนวน 1,000,000 บาท จากเงินรายได้ส่วนกลาง มก. ให้กับสำนักหอสมุด โดยพิจารณาจากการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ สร้างผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม และนำชื่อเสียงมาสู่มหาวิทยาลัย โดยสำนักหอสมุดจะมุ่งมั่นพัฒนาบริการต่อไปดังคำขวัญที่ว่า “บริการดี มีน้ำใจ ก้าวไกลด้วยวิชาการ” และจะนำเงินสนับสนุนดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาโครงการคลังความรู้ดิจิทัล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโครงการอ่านทุกที่ใน มก. ต่อไป

  • 2 เมษายน 2556
    พิธีเปิดโครงการอ่านทุกที่ใน มก. (Read@ku) เพื่อสนับสนุนให้นิสิต บุคลากร และประชาชนทั่วไป มีนิสัยรักการอ่าน โดยเป็นหนึ่งในโครงการบริการเชิงรุกที่สำนักหอสมุดใช้เงินสนับสนุน 1 ล้านบาท ที่ได้รับมอบจากมหาวิทยาลัย โดยมีหนังสือที่หลากหลายไว้บริการตามจุดต่างๆ ในระยะที่ 1 ดังนี้
    -ใต้อาคารสารนิเทศ 50 ปี มีจุดบริการ 2 จุด
    -โรงอาหารกลาง 1 (บาร์ใหม่) มีจุดบริการ 1 จุด
    -โรงอาคารกลาง 2 (สม.ก.) มีจุดบริการ 1 จุด
    -ป้ายจอดรถวิทยาเขต บริเวณหน้ากองยานพาหนะอาคารและสถานที่ (ประตูวิภาวดี) มีจุดบริการ 1 จุด
    -ป้ายจอดรถวิทยาเขต บริเวณหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ มีจุดบริการ 1 จุด
    -ป้ายจอดรถวิทยาเขต บริเวณศาลาหกเหลี่ยม มีจุดบริการ 1 จุด
    -ด้านข้างอาคารสำนักหอสมุด ใกล้จุดรอรถวิทยาเขต หน้าอาคารเทพรัตน์วิทยาโชติ

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>