ต่อไปนี้เป็นบทสัมภาษณ์ นางอรุณ เดชโคตร อายุ 55 ปี บ้านเลขที่ 84 หมู่ที่ 16 คุ้มวัดกลาง ตำบลเกษตรวิสัย อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด เกษตรกรที่ใช้ถ่านในการปลูกคะน้ามากกว่า 15 ปี
 
 
คำถาม : เริ่มใช้ถ่านปรับปรุงดินได้อย่างไร ?
คำตอบ : ครอบครัวประกอบอาชีพบีบขนมจีนขาย จึงได้ลงทุนสร้างเตาที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง นอกจากจะประหยัดต้นทุนแล้วยังได้ถ่านแกลบเป็นผลพลอยได้อีกด้วย จุดเริ่มต้นของการใช้ถ่าน ปรับปรุงดินนั้น เริ่มจากการซื้อดินมาถมที่สร้างบ้าน และต้องการปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง แต่ดินที่ได้มานั้นเป็นดินเหนียวแข็งไม่สามารถขุดสร้างแปลงการเกษตรได้ จึงได้พยายามหาทางให้ดินร่วนซุย โดยการค่อยๆ ขุดให้เป็นแอ่งแล้วขังน้ำไว้ เมื่อเห็นว่าดินเริ่มอิ่มน้ำ ก็ขุดซ้ำอีกรอบ แต่ก็ยังไม่สามารถเพาะปลูกได้ ประกอบกับเห็นว่าถ่านแกลบ ที่ได้จากการใช้เป็นเชื้อเพลิงในการทำขนมจีน ไม่ได้นำไปใช้อะไรจึงได้ทดลองนำมาเทลงในดินที่ขังน้ำไว้แล้ว ขุดพรวนซ้ำ พบว่าทำให้ดินร่วนซุยเร็วขึ้น จึงได้ดำเนินการปรับปรุงดินรอบบริเวณบ้านโดยวิธีเดียวกัน แล้วเริ่มปลูกผักบุ้งเพราะเห็นว่าเป็นผักที่ปลูกง่าย หลังการปรับปรุงดินในปีที่ 3 พบว่าพื้นที่ทั้งหมดดินเปลี่ยนสภาพจากดินเหนียวแข็งมาเป็นดินร่วนซุยเหมาะแก่การเพาะปลูกจึงเปลี่ยนมาปลูกคะน้า จำหน่ายเป็นอาชีพเสริม จากวันนั้นนับได้ว่าปลูกคะน้ามาแล้วประมาณ 13 ปี ในพื้นที่เดิม ต้นคะน้าที่ได้ในครั้งแรกโตและอวบอย่างไรก็ยังเป็นอย่างนั้น
 
คำถาม : ขอให้อธิบายวิธีการนำถ่านมาใช้ในการปลูกคะน้า
คำตอบ : เริ่มจากการไถพรวน ตากดินทิ้งไว้ 3-4 วัน คราดดิน ให้เรียบเสมอกัน หว่านเมล็ดคะน้าแล้วใช้ถ่านแกลบหว่านทับเลย ให้แกลบหนาประมาณ 1 เซนติเมตร ทั้งนี้ในการปลูกไม่ได้ใช้ปุ๋ยคอก เพราะไม่ได้เลี้ยงสัตว์ และเคยซื้อปุ๋ยคอกมาปลูกผัก พบว่ามีปัญหาหญ้างอกในแปลง จึงเลิกใช้ปุ๋ยคอก เปลี่ยนมาใช้น้ำหมักชีวภาพควบคู่กับถ่านแทน และเนื่องจากแปลงปลูกผักอยู่ในบริเวณบ้าน ไม่ต้องการใช้สารเคมี จึงค้นหาสูตรสมุนไพรเพื่อไล่แมลงจากหนังสือการเกษตร แล้วก็ค่อยๆ ปรับสูตรมาเรื่อยๆ จะเห็นว่าตอนนี้แปลงปลูกผักนี้ เป็นผักปลอดสารพิษจริงๆ ถ่านแกลบนี้นอกจากจะ ทำให้ดินร่วนซุยแล้วคะน้าที่ได้ยังอวบ กรอบ หวาน อีกด้วย และที่สำคัญคือไม่ต้องรดน้ำมาก แค่รดให้พอชุ่มวันละครั้งก็พอ
 
คำถาม : ได้เผยแพร่ความรู้เรื่องการใช้ถ่านในการเกษตรให้แก่เกษตรกรรายอื่นๆ หรือไม่
คำตอบ : ถ้าใครมาที่บ้านแล้วเห็นว่า ดินที่บ้านเป็นดินดำ ก็จะถามป้าก็จะพาไปดูดินเดิมที่ไม่เคยปรับปรุง แล้วก็บอกว่าให้หาถ่านมาลงดิน ซึ่งทราบว่าโรงสีไร่เกษตร ในอำเภอเกษตรวิสัย เปิดให้คนที่ต้องการใช้แกลบดำที่ได้จากโรงไฟฟ้าชีวมวล ไปขอได้ฟรี แต่เท่าที่ติดตามก็ไม่เห็นมีใครไปขอมาใช้ บอกว่าไม่มีรถไปขนมั่ง พื้นที่กว้างต้องใช้ถ่านเยอะมั่ง สรุปคือขี้เกียจ ป้าก็ถือว่าได้แนะนำแล้วจะใช้หรือไม่ก็แล้วแต่ความต้องการ
 

ภายใต้วิทยานิพนธ์ "การพัฒนาการเรียนรู้ การประยุกต์ถ่านชีวภาพในการปรับปรุงดินเพื่อการเกษตร"

สาขาภูมิศาสตร์การวางแผนพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โดย น.ส.ศิริลักษณ์ ศิริสิงห์      ภายใต้ความดูแลของ รศ.ดร.อรสา สุกสว่าง