MENU
แนะนำรายวิชา
วิธีการเรียน
กิจกรรมการเรียน
ทรัพยากรการเรียน
แบบฝึกหัด
คณะผู้สอน
ติดต่อผู้สอน
   
SITE
 
 
   
 
การแต่งกาย
 
                    กรรณีย์ ถาวรสุข
   
 
  แฟชั่นและสไตล์
     แฟชั่น(Fashion)หมายถึงสมัยนิยม ส่วนสไตล์(Style)หมายถึงลักษณะตามยุคสมัยที่บ่งบอก
ความเป็นเอกลักษณ์ สไตล์ของการแต่งกายจะหมายถึง การแต่งกายที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
หรือโอกาส มีระยะเวลานานกว่าแฟชั่นและอาจย้อนยุคได้ การแต่งกายที่ดีควรอยู่ในสมัยนิยม
ไม่ล้าสมัย เหมาะสมกับตนเอง การแต่งกายตามแฟชั่นจนเกินไปโดยไม่พิจารณาถึงรูปร่างและ
บุคลิกภาพตนเอง อาจทำให้สภาพตัวเองแย่กว่าความเป็นจริง ซึ่งทางหนึ่งที่จะช่วยได้คือการ
รู้จักศิลปะการแต่งกาย
   
 
  ศิลปะกับการแต่งกาย
     ความรู้เกี่ยวกับศิลปะในการแต่งกายจะช่วยให้สามารถแต่งกายได้ดี เป็นการเสริมสร้างบุคลิกภาพ
ให้ดีขึ้น อย่างเช่นเรื่องของเส้น การเลือกใส่เสื้อผ้าที่มีลายเส้นตามขวางจะช่วยให้คนที่มีรูปร่างผอม
ดูอ้วนขึ้น และการสวมเสื้อผ้าที่มีลายในแนวตั้งจะช่วยให้คนอ้วนดูผอมลง หรืออย่างเช่นเสื้อผ้าที่มีสีอ่อน
สีสว่าง จะช่วยให้ผู้สวมใส่ดูมีร่างกายขนาดใหญ่ขึ้น ดูสดใส ส่วนเสื้อผ้าที่มีสีเข้ม มืด
จะทำให้ร่างกายดูมีขนาดเล็กลง และดูหมองมัวเป็นต้น
   
 
  บุคลิกกับการแต่งกาย
 
 
บุคลิกภาพของสตรี มีด้วยกันหลายลักษณะเช่น
   
  ผู้หญิงลักษณะเข้มแข็งเชื่อมั่น (Dramatic type) รูปร่างจะสูงใหญ่ แข็งแรง แต่งกายสะดุดตา
เรียบๆไม่ตกแต่ง ไม่นิยมผ้ามีลวดลาย
   
  ผู้หญิงลักษณะงามพร้อม (Classic type) รูปร่างสวย สมส่วน ท่วงท่าสง่างาม แต่งกายประณีต
คำนึงถึงสไตล์มากกว่าแฟชั่น
   
  ผู้หญิงลักษณะนุ่มนวล(Romantic type) ท่วงท่าอ่อนช้อย แต่งกายสวยงาม เน้นรายละเอียด
ชอบการตกแต่ง
   
  ผู้หญิงลักษณะเป็นธรรมชาติ (Natural type) คล่องแคล่ว ร่าเริง แข็งแรง แต่งกายตามสบาย
คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยมากกว่าการแต่งกาย
   
  ผู้หญิงลักษณะสร้างสรรค์(Creative type) บุคลิกเป็นของตัวเอง ชอบงานศิลป
จึงมีสไตล์การแต่งกายไม่เหมือนใคร
   
  ผู้หญิงลักษณะภูมิฐาน(Eurochic) เป็นผู้ประสบวามสำเร็จในชีวิต ชอบความหรูหรา
และผ่อนคลาย มั่นใจตนเอง เป็นบุคลิกผสมระหว่าง Dramatic และ Classic
   
บุคลิกของสุภาพบุรุษ
   
  ผู้ชายลักษณะหล่อแบบผึ่งผาย(Handsome) มีลักษณะแข็งแรง สมชายชาตรี
รูปร่างสูงใหญ่ แต่งกายเป็นระเบียบ ค่อนข้างเป็นการเป็นงาน
   
  ผู้ชายลักษณะสำรวย (Dandy) แต่งกายประณีตด้วยสิ่งดีเยี่ยม
นิยมใช้น้ำหอม
   
  ผู้ชายลักษณะอ่อนโยน(Sissy) ช่างเอาใจ แต่งกายเรียบร้อย
นิยมใช้เครื่องประดับมีค่าเหมาะสมกับเสื้อผ้า
   
  ผู้ชายลักษณะไม่เป็นระเบียบ(Sloppy) ชอบแต่งตัวซอมซ่อ ไม่สะอาด
   
  ผู้ชายลักษณะสามัญ(Common man) แต่งกายตามสบาย ไม่พิถีพิถัน แต่ไม่ถึงกับดูซอมซ่อ
   
 
  อาชีพกับการแต่งกาย
      การแต่งกายเป็นการบ่งบอกสถานภาพทางสังคม บางอาชีพมีการกำหนดลักษณะการแต่งกาย
หรือเรียกว่าเครื่องแบบ ดังนั้นจึงควรแต่งกายให้มีความเหมาะสมกับอาชีพและสถานภาพของตนเอง
จึงมีข้อแนะนำด้านการแต่งกายสำหรับผู้มีอาชีพต่างๆดังนี้
   
  นิสิต นักศึกษา ควรแต่งกายตามเครื่องแบบของสถาบันที่กำหนดไว้ให้ การแต่งหน้าควรแต่ง
เพียงบางๆ รักษาผิวพรรณให้สะอาด เครื่องแบบต้องสวมอย่างถูกต้อง ไม่ปล่อยชายเสื้อผ้าหลุดลุ่ย
ผมเผ้าควรจัดให้เป็นทรงไม่ทำให้เป็นสีสันจนเกินงาม อุปกรณ์แต่งกายเช่นกระเป๋า รองเท้าไม่ควร
ใช้ของแบรนด์เนมเนื่องจากยังไม่มีรายได้เป็นของตนเอง
   
  เจ้าหน้าที่ในสำนักงาน อันได้แก่ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัท ควรแต่งกาย
เรียบร้อยตามสมัยนิยมใส่เสื้อเชิ้ทผูกเนคไทหรือแต่งเครื่องแบบของหน่วยงาน สุภาพตรีควรนุ่งกระโปรง บางแห่งให้สวมกางเกงได้แต่ควรเป็นทรงและสีแบบเรียบร้อยเอาชายเสื้อไว้ในกางเกงหรือสวมสูททับ
ส่วนรองเท้าควรมีสีสุภาพและเป็นแบบเรียบร้อย เครื่องประดับแต่งได้พอสมควรไม่ถึงกับรกรุงรัง
   
  ผู้บริหาร อันได้แก่ ข้าราชการผู้ใหญ่ นักธุรกิจระดับบริหารทั้งในภาครัฐและเอกชน
ทั้งชายและหญิงควรสวมเสื้อผ้าที่ดูภูมิฐาน ตัดเย็บปราณีต สมวัยและฐานะ สวมเครื่องประดับ
ตามสมควร
   
  ครู อาจารย์ เนื่องจากเป็นอาชีพที่เป็นตัวอย่างของลูกศิษย์ จึงต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย
สมกับวัยแต่ไม่ถึงกับเชยล้าสมัย อาจตกแต่งด้วยเครื่องประดับได้บ้าง แต่ไม่ถึงกับโลดโผน
หรือตามแฟชั่นจนเกินไป
   
  นักร้อง นักแสดง เนื่องจากเป็นบุคคลสาธารณะ และเป็นตัวอย่างของเยาวชน การแต่งกายจึง
ควรแต่งกายให้ดูเรียบร้อยประณีตน่านิยม สะอาด แต่งกายให้เข้ากับสมัยนิยมตามแฟชั่น
แต่ไม่ควรแต่งกายโป๊จนเกินงาม
   
 
   
  การพัฒนาตนเองด้านการแต่งกาย
   
 
การพิจารณาตนเอง ควรพิจารณาข้อด้อยของตนเองเพื่อนำมาปรับปรุงกายแต่งกาย
ให้เหมาะสม เช่นการเลือกเสื้อผ้าที่เหมาะกับรูปร่างที่ผอมหรืออ้วน รูปร่างสูงหรือต่ำ
สีผิวกาย เพศและวัยรวมถึงบุคลิกภาพ
   
  การรับฟังคำวิจารณ์ การเปิดใจกว้างรับฟังคำวิจารณ์จากบุคคลรอบข้าง จะเป็นข้อมูลที่ช่วยให้
้เราสามารถทราบจุดเด่นจุดด้อยของร่างกายเรา เพื่อหาทางปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น
   
  การแต่งกายให้เหมาะสม การแต่งกายให้เหมาะสมกับเพศ วัย เวลา สถานที่
จะช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพได้อีกทางหนึ่ง
   
  การพรางส่วนด้อยเน้นส่วนดี บุคคลทุกคนจะมีจุดเด่นและจุดด้อยของร่างกาย
เช่นบางคนหน้าสวยแต่ขาไม่สวย จึงต้องพยามทำให้ดึงความสนใจให้คนอื่นมองที่จุดเด่น
จนกระทั่งลืมมองที่จุดด้อย หรือใช้เสื้อผ้าช่วยพรางส่วนด้อยของร่างกาย
   
  บุคคลที่ร่างกายเตี้ยล่ำ ควรใช้เสื้อผ้าลายเส้นแนวตั้งหรือเฉียงขึ้น เสื้อผ้าควรใช้ทรง
แคบยาวคลุมสะโพก กางเกงควรเป็นแบบเรียบๆไม่มีจีบ กระโปรงแบบเรียบๆ ควรใช้ผ้า
สีเข้มแบบทิ้งตัว หลีกเลี่ยงการใช้เข็มขัดเส้นใหญ่
   
  บุคคลที่มีร่างกายอ้วน ควรใช้เสื้อผ้าลายเส้นแนวตั้ง หลีกเลี่ยงลายเส้นโค้งหยักหรือทรงกลม
ไม่ควรใช้เสื้อรัดรูปหรือหลวมมากจนเกินไป แบบเสื้อควรเป็นแบบเรียบ ควรใช้เสื้อผ้าสีเข้มหรือ
โทนหม่นๆ เป็นผ้าที่มีน้ำหนัก ควรหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อแขนกุดและผ้าที่มันวาว
   
  บุคคลที่มีร่างกายผอม ควรสวมเสื้อผ้าลายขวางหรือเส้นโค้ง เสื้อผ้าควรมีการหนุนไหล่
ควรใช้เสื้อคอปิดเพือบังความผอมของลำคอ ถ้าใส่เสื้อสูทควรให้ยาวคลุมสะโพก เข็มขัดควร
ใช้เส้นใหญ่ ถ้าสวมกระโปรงควรเป็นกระโปรงยาวปิดขา ถ้าเป็นกางเกงควรเลือกแบบมีจีบที่เอว
ควรเลือกใช้เสื้อผ้าสีสว่างหรือสีอ่อน
   
  บุคคลที่มีร่างกายสูงใหญ่ จะแต่งตัวได้ค่อนข้างง่าย สามารถใช้เสื้อผ้าได้หลายแบบ
แต่ที่สำคัญก็คือควรเลือกให้หมาะสมกับเวลาและสถานที่
   
 
 
<< PREVIOUS                                                                NEXT >>
 
 
 
 
 
 
 
     
 
บทนำ Iบทที่ 1 I บทที่ 2 I บทที่ 3 I บทที่ 4 I บทที่ 5 I บทที่ 6 I บทสรุป
กลับไปหน้าแรก I แนะนำรายวิชา I วิธีการเรียน I กิจกรรมการเรียน I แบบฝึกหัด I ติดต่อผู้สอน